กะตังใบ

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

กะตังใบ

ชื่อสมุนไพร กะตังใบ
ชื่ออื่นๆ ต้างไก่ (อุบลราชธานี) คะนางใบ(ตราด) ตองจ้วม ตองต้อม(เหนือ) บั่งบายต้น(ตรัง) ช้างเขิง ดังหวาย (นราธิวาส) เรือง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Leea indica (Burm.f.) Merr.
ชื่อพ้อง L. javanica
ชื่อวงศ์ Leeaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
            ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 1-3 เมตร แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น ลำต้นเกลี้ยง หรือปกคลุมด้วยขนสั้นๆ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 1-3 ชั้น ใบย่อยมี 3-7 ใบ ถึงจำนวนมาก ปลายใบคี่ เรียงแบบสลับ ใบย่อยออกเป็นคู่ตรงข้าม หูใบรูปไข่กลับ แผ่เป็นแผ่น กว้างได้ถึง 4 เซนติเมตร ยาว 6 เซนติเมตร มักจะเกลี้ยง หรือมีขนประปราย หูใบร่วงง่าย ทำให้เกิดรอยแผลเป็นรูปสามเหลี่ยมกว้าง แกนกลางใบยาว 10-35 เซนติเมตร เกลี้ยง หรือมีขนสั้นปกคลุม ใบย่อยรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ถึงรูปหอกแกมรูปไข่ หรือรูปรี หรือรูปใบหอกแกมรี กว้าง 3-12 เซนติเมตร ยาว 10-24 เซนติเมตร ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม โคนใบสอบ หรือกลม หรือเว้า เล็กน้อย ขอบใบจักมน หรือจักแบบฟันเลื่อย หรือแบบซี่ฟันตื้นๆเนื้อใบหนาปานกลาง ด้านล่างมีต่อมขนาดเล็กรูปเหลี่ยม หรือกลม เส้นใบมี 6-16 คู่ หลังใบและท้องใบเป็นลอนตามแนวเส้นใบ ก้านใบย่อยยาวได้ถึง 25 มิลลิเมตร เกลี้ยง หรือมีขน ก้านใบรวมยาว 10-25 เซนติเมตร เกลี้ยง หรือมีขนเล็กน้อย ริ้วประดับมีตั้งแต่รูปสามเหลี่ยมค่อนข้างกว้าง ถึงรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร ดอกออกเป็นช่อตั้งขึ้น ตามซอกใบ ก้านช่อดอกยาวได้ถึง 15 เซนติเมตร ดอกย่อยสีเขียวอ่อน มีจำนวนมาก ดอกตูมรูปทรงกลมสีแดงเข้มพอบานมีสีขาว กลีบเลี้ยงยาว 2-3 มิลลิเมตร เชื่อมติดกัน ที่โคน ปลายแยกเป็นแฉกแหลม 5 แฉก กลีบดอก 5 กลีบ เชื่อมติดกันที่โคน เกสรเพศผู้มี 5 อัน ติดอยู่กับหลอดเกสรเพศผู้ ปลายอับเรณูจะโผล่พ้นหลอดออกไปเป็นแฉกมนๆ ปลายแฉกเว้า เกสรเพศเมียมี 6 ช่อง แต่ละช่องมีไข่ 1 เมล็ด ก้านเกสรสั้น ปลายมน ผล กลม แป้น ผิวบาง มีเนื้อนุ่ม ผลอ่อนมีสีเขียวพอแก่จัดมีสีแดงเข้มจนถึงสีม่วงดำ มี 6 เมล็ด ผลรับประทานได้ ออกดอกราวเดือนมิถุนายนถึงกันยายน พบตามป่าเต็งรัง

 

ลักษณะวิสัย

 

ใบ

 

ดอก

 

  

ดอก

 

ช่อผล

 

ผล

 

สรรพคุณ    
             หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี  ใช้  ราก ฝนกับเหล้าทา รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
             ตำรายาไทย  ใช้  ราก รสเย็นเมาเบื่อ ต้มน้ำกินเป็นยาแก้ปวดท้อง ท้องเสีย แก้บิด ขับเหงื่อ และเป็นยาเย็น แก้อาการกระหายน้ำ แก้ไข้ แก้ไข้รากสาด แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้ครั่นเนื้อครั่นตัว ดับร้อน นำรากผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มน้ำดื่ม วันละ 3 ครั้ง จนยาหมดรสฝาด แก้ตกขาว มะเร็งลำไส้ มะเร็งมดลูก ใบ ย่างไฟให้เกรียม ใช้พอกศีรษะ แก้วิงเวียน มึนงง ตำเป็นยาพอกแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และแก้ผื่นคันตามผิวหนัง น้ำยาง จากใบอ่อนกินเป็นยาช่วยย่อย ทั้งต้น ผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มน้ำดื่ม รักษามะเร็งเต้านม

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 3
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่