รสสุคนธ์

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

รสสุคนธ์

ชื่อสมุนไพร รสสุคนธ์
ชื่ออื่นๆ ลิ้นแฮด (ยโสธร) มะตาดเครือ สุคนธรส อรคนธ์ ย่านปด (นครศรีธรรมราช) ปดคาย ปดเลื่อน (สุราษฎร์ธานี) ปดน้ำมัน (ปัตตานี) รสสุคนธ์ขาว มะตาดเครือ เสาวรส (กรุงเทพมหานคร) เถากะปดใบเลื่อม (ประจวบคีรีขันธ์) บอระคน (ตรัง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tetracera loureiri (Finet.&Gagnep.) Pierre ex Craib.
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์ Dilleniaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
            ไม้เถาเนื้อแข็ง ขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ เลื้อยได้ไกล 5-8 เมตร กิ่งอ่อนมีขน แตกกิ่งเลื้อยทอดยาว เปลือกเถาสีน้ำตาล มีเนื้อไม้แข็ง มีใบรวมอยู่เฉพาะปลายยอด ใบเดี่ยวรูปรี ถึงรูปขอบขนาน กว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 6-10 เซนติเมตร โคนใบและปลายใบมนถึงแหลม ขอบใบจักห่างๆ ใบออกเรียงแบบสลับกัน เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวใบด้านบนเห็นเส้นแขนงใบเป็นร่อง ผิวใบด้านท้องใบสากคาย หลังใบมีสีเขียวเข้ม ก้านใบยาว 0.6-1 เซนติเมตร ดอกเล็กๆ ออกเป็นช่อ แบบแยกแขนง ออกที่ซอกใบ หรือปลายยอด ช่อดอกยาว 10-15 เซนติเมตร มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกมีทรงกลม สีขาว กลีบดอกบางมี 5 กลีบ  หลุดร่วงง่าย มีกลิ่นหอม ดอกบานไม่พร้อมกัน เมื่อบานมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร เกสรเพศผู้สีขาว มีเป็นจำนวนมาก มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ผลรูปไข่เบี้ยว สีเขียว มีขนาด 0.7 เซนติเมตร มีจะงอยที่ส่วนปลาย เมื่อแก่จะแตกแนวเดียว ภายในมีเมล็ดสีดำรูปไข่ 1-2 เมล็ด และมีเยื้อหุ้มเมล็ด (รก) สีแดงสด พบขึ้นทั่วไปในป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณและป่าชายหาด ออกดอกช่วงเดือนเมษายนถึงสิงหาคม ดอกส่งกลิ่นหอมแรงตอนกลางคืน เถาใช้ทำเชือกมัดหลังคา มัดไม้ก่อสร้าง หรือนำเถาขนาดใหญ่มาทำชิงช้าให้เด็ก ใบแก่นำมารูดคาวปลาไหลได้ดีเหมือนใบข่อย


 

ลักษณะวิสัย

 

ลักษณะวิสัย

 

ใบ

 

ช่อดอก

 

ช่อดอก

 

ผลอ่อน

 

ผลแก่ และ เมล็ด

 

รก (สีแดง) และ เมล็ด

 

สรรพคุณ    
              ยาพื้นบ้านอีสาน  ใช้  ลำต้น และราก ต้มน้ำดื่ม แก้ฝี แก้บวม ใบ ราก ตำพอกใช้เป็นยาแก้ผื่นคัน ต้มดื่มใช้เป็นยาแก้ตกเลือดภายในปอด อมแก้แผลในปาก ดอก มีรสหอมขม ใช้ปรุงยาหอม บำรุงหัวใจ แก้ลมวิงเวียน แก้อ่อนเพลีย
             ตำรายาไทย  ใช้  ดอก รสหอมขม เข้ายาหอมบำรุงหัวใจ แก้ลมวิงเวียน แก้อ่อนเพลีย มักใช้คู่กับเถาอรคนธ์ ใบ รักษาโรคหิด น้ำเลี้ยงจากต้น ผสมต้นหอมใช้รักษาฝีหนอง
             ยาพื้นบ้านภาคใต้  ใช้  ใบ ต้มน้ำดื่มแก้สะอึก

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง :  phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 4
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่