โลดทะนงแดง

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

โลดทะนงแดง

ชื่อสมุนไพร โลดทะนงแดง
ชื่ออื่นๆ ข้าวเย็นเนิน (ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์); ดู่เบี้ย ดู่เตี้ย (เพชรบุรี); ทะนง รักทะนง (นครราชสีมา); ทะนงแดง (ประจวบคีรีขันธ์); นางแซง (อุบลราชธานี); โลดทะนงแดง (บุรีรัมย์);หนาดคำ (เหนือ) หัวยาเข้าเย็นเนิน ข้าวเย็นเนิน (ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Trigonostemon reidioides (Kurz) Craib
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์ Euphorbiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงได้ถึง 1 เมตร มีรากเก็บสะสมอาหารพองโต ผิวสีแดงอมม่วง เนื้อสีขาว ลำต้นเรียวเล็ก ขึ้นเป็นกอ ทุกส่วนของต้นมีขน ลำต้นมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงสลับ เนื้อใบหนา  แผ่นใบรูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมใบหอก กว้าง 2-4 เซนติเมตร ยาว 6-10 เซนติเมตร โคนใบมน มีต่อมเล็กๆ 2 ต่อม ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม เห็นเส้นใบย่อยเห็นชัด และมีขนนุ่มหนาแน่นบนผิวใบทั้งสองด้าน ก้านใบยาว 1-1.5 เซนติเมตร ช่อดอกแบบกระจะ ดอกสีขาว ชมพู ม่วงเข้มหรือเกือบดำ ออกเป็นช่อตามซอกใบและตามกิ่งก้าน ยาว 7-10 เซนติเมตร ดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกเพศผู้มีจำนวนมากกว่าอยู่บริเวณโคนช่อ มีลักษณะตูมกลม ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ก้านดอกมีขน มีกลีบดอก 5 กลีบ ไม่มีขน มีเกสรเพศผู้ 6 อัน ก้านเกสรเชื่อมติดกันเป็นแท่งเดียว ดอกเพศเมียตูมรูปไข่ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ มีขน จานฐานดอกล้อมรอบฐานของรังไข่ มีรังไข่เหนือวงกลีบ กลีบดอกสีขาว ผลแห้งแตกได้ รูปค่อนข้างกลม มีขนสั้นนุ่มปกคลุมหนาแน่น แบ่งเป็น 3 พูชัดเจน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 มิลลิเมตร มีก้านสีแดง ยาว 3-5 เซนติเมตร เมล็ดรูปค่อนข้างกลมหรือรูปไข่แกมสามเหลี่ยม ผิวเรียบพบตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ออกดอกตลอดปี

 

ลักษณะวิสัย

 

ใบ

 

ดอก

 

ดอก และ ผล

 

ดอก  และ  ผล

 

ดอก

 

ผล

 

สรรพคุณ    
              ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี  ใช้ ราก เข้ายากับน้ำมะนาว ฝนกับน้ำดื่ม แก้ผิดสำแดง พิษแมงมุม ทำให้อาเจียน ถอนพิษเบื่อเมา เหง้า ฝนทา แก้สิว ฝ้า และฟกช้ำ เคล็ดบวม ราก ผสมกับพญาไฟ และปลาไหลเผือก ฝนน้ำดื่มถอนเมาเหล้า
             ยาพื้นบ้านใช้ ราก ผสมกับเมล็ดหมาก ฝนน้ำกิน และผสมกับน้ำมะนาว ทาแผลแก้พิษงูชนิดที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ซึ่งควรมีการวิจัยเพิ่มเติม ต้มน้ำดื่ม หรือฝนรับประทาน ทำให้อาเจียนอย่างหนัก ใช้ถอนพิษคนกินยาเบื่อยาเมา หรือฝนน้ำกินช่วยให้เลิกดื่มเหล้า
             ตำรายาไทยใช้ ราก มีรสร้อน ฝนน้ำกินทำให้อาเจียน เพื่อถอนพิษคนกินยาเบื่อ เมาพิษเห็ดและหอย แก้พิษงู แก้เสมหะเป็นพิษ (เสมหะหรืออุจาระเป็นมูกเลือด) แก้หืด แก้วัณโรค เป็นยาระบาย ฝนเกลื่อนฝี หรือดูดหนองถ้าฝีแตก แก้ฟกช้ำ เคล็ดบวม แก้ปวดฝี คุมกำเนิด ต้มดื่ม แก้วัณโรค ฝนกับน้ำมะนาว หรือสุรา รับประทานแก้พิษงู ฝนทาแก้ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก

 

ข้อมูลเครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 28
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่