สมัดใหญ่
ชื่อสมุนไพร | สมัดใหญ่ |
ชื่ออื่นๆ | ขี้ผึ้ง แสนโศก (นครราชสีมา) ชะมัด (อุบลราธานี) เพี้ยฟาน หญ้าสาบฮิ้น หมี่ (เหนือ) มะหรุย (ใต้) ยม (ชุมพร) รุ้ย (กาญจนบุรี) สีสม หมอน้อย (กลาง ) สมัดใหญ่ หัสคุณโคก (เพชรบูรณ์) สามเสือ (ชลบุรี) สามโสก (จันทบุรี) สำรุย (ยะลา) หวดหม่อน (กลาง เหนือ) หัสคุณ อ้อยช้าง (สระบุรี) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Clausena excavata Burm. f. |
ชื่อพ้อง | |
ชื่อวงศ์ | Rutaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่ม แตกกิ่งก้านสาขามาก สูง 1.5-4 เมตร ต้นส่วนมากสูงไม่เกิน 1 เมตร เปลือกสีน้ำตาล ผิวเรียบ กิ่งก้านมีขนสั้นๆ ที่บริเวณปลายกิ่ง ใบประกอบแบบขนนก เรียงแบบสลับ ใบย่อย 3-6 คู่ รูปรีหรือรูปหอก เห็นเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ใบไม่หนา สีเขียวอ่อน กว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 5-8 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ฐานใบเบี้ยว ขอบใบเรียบ มีซี่จักเล็กน้อย ใบมีขนนุ่มสีน้ำตาล ท้องใบมีขนบางๆ ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่งเป็นกระจุกแน่น เป็นช่อแบบแยกแขนง มีดอกย่อยจำนวนมาก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ สีขาวปนเขียว เกสรเพศผู้มี 10 อัน ผลกลมหรือรี หรือรูปกระสวย ขนาดเล็ก ผิวใสฉ่ำน้ำ ผลอ่อนสีเขียวปนเหลือง ผลแก่สีส้มอมชมพู ออกดอกช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน พบตามป่าดงดิบ ป่าละเมาะ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
ลักษณะวิสัย
ลักษณะวิสัย (ขณะออกผล)
ใบ
ช่อดอก
ช่อดอก
ดอกตูม และ ดอกบาน
ผลอ่อน
ผลสุก
สรรพคุณ
ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ ราก ฝนกับน้ำดื่ม แก้โรคงูสวัด ทั้งต้น ต้มน้ำกลั้วปาก แก้ปวดฟัน
ตำรายาไทย ใช้ ราก มีกลิ่นหอม รสร้อน มีสรรพคุณขับเลือด และหนองให้ตก พอกแผล ริดสีดวงและคุดทะราด ขับพยาธิ แก้โรคผิวหนัง แก้แน่น กระจายเลือดลม เปลือกต้น มีกลิ่นหอม รสร้อน มีสรรพคุณแก้โลหิตในลำคอ และลำไส้ให้กระจาย ใช้รมแก้ริดสีดวงจมูก กระพี้และแก่น มีรสร้อน แก้โลหิตในลำไส้ ขับลม ขับพยาธิไส้เดือน ใบ มีกลิ่นหอม มีรสเผ็ดร้อน ซ่า มีสรรพคุณแก้ลมอันผูกเป็นก้อนให้กระจาย กระจายเลือดลมให้เดินสะดวก แก้ลมอัมพฤกษ์อัมพาต แก้ขัดยอก เสียดแทง แก้ไข้ แก้หืดไอ ตำพอกประคบ แก้ผื่นคัน ใช้รมแก้ริดสีดวงจมูก ต้น รสหอมร้อน ขับลมภายใน แก้ไอ ขับพยาธิไส้เดือน ดอก มีรสร้อน มีสรรพคุณแก้เสมหะให้ตก ผล มีรสเปรี้ยวร้อน มีสรรพคุณฆ่าเสียซึ่งพยาธิอันบังเกิดแต่ไส้ด้วน ไส้ลาม เป็นยาถ่าย ในตำรายาไทยเมื่อนำมาใช้ร่วมกันในพิกัด “สหัสคุณทั้ง 2” คือสหัสคุณไทย หรือสมัดน้อย และสหัสคุณเทศ หรือสมัดใหญ่ โบราณว่า มีรสร้อน มีสรรพคุณขับลมในท้อง แก้ริดสีดวง ผอมแห้ง แก้หืดไอ ขับเลือด และขับหนองให้ตก นอกจากนี้ ลำต้น และใบ นำมาเผารมควันตามเล้าไก่กำจัดไร
ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดมุกดาหาร ใช้ ราก แก้ไข้
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/