เสลดพังพอนตัวผู้

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เสลดพังพอนตัวผู้

ชื่อสมุนไพร เสลดพังพอนตัวผู้
ชื่ออื่นๆ เสลดพังพอนตัวผู้ พิมเสนต้น(ภาคกลาง) ชองระอา ทองระอา ลิ้นงูเห่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ Barleria lupulina Lindl.
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์ Acanthaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
            ไม้พุ่ม สูงประมาณ 1-2 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก ต้นสีน้ำตาลอมเขียว ตามข้อของลำต้นและโคนก้านใบมีหนามแหลมคมสีน้ำตาลข้อละ 2 คู่ กิ่งและก้านมีสีน้ำตาลแดง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ใบรูปรียาว กว้าง 2.5 เซนติเมตร ยาว 5-7 เซนติเมตร โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ผิวใบเกลี้ยง พื้นใบมีสีเขียวเข้มและมัน เส้นใบและก้านมีสีแดง ก้านใบสั้น ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร และโคนก้านมีหนามแหลมหนึ่งคู่ สีม่วงชี้ลง ดอกออกเป็นช่อตั้ง ออกที่ปลายยอด ช่อยาวประมาณ 3-9 เซนติเมตร ช่อดอกอ่อนมองเห็นใบประดับรูปกลมรีขนาด 1-2 เซนติเมตร หุ้มดอกไว้ภายใน ใบประดับขนาดใหญ่เรียงกันเป็นรูปทรงกระบอกสีน้ำตาลแดง ปลายใบมีสีม่วง เมื่อดอกโตเต็มที่ จะโผล่เลยกลีบประดับออกมา โคนกลีบดอกติดกันเป็นหลอดสีเหลือง ปลายแยกเป็น 2 ปาก ปากบนมีกลีบมนขนาดใหญ่มี 4  กลีบ กลีบล่างมี 1 กลีบเล็กกว่า กลีบดอกร่วงง่าย ผลเป็นฝักรูปไข่ ภายในผลมีเมล็ด 2-4 เมล็ด

 

ลักษณะวิสัย

 

เปลือกลำต้น

 

ใบ

 

ใบ  และ  ช่อดอก

 

ช่อดอก

 

ช่อดอก

 

ดอก

 


สรรพคุณ    
              ตำรายาไทย  ใช้ ใบ มีรสจืดเย็น แก้โรคเริม งูสวัด (โดยใช้ใบสดครั้งละ 1 กำมือ ตำให้ละเอียดแทรกพิมเสนเล็กน้อย นำมาทา หรือนำผสมสุราแล้วพอกบ่อยๆ บริเวณที่เป็น) หรือตำกับสุรา คั้นเอาน้ำดื่ม เอากากพอก แก้ฝีที่ฝ่ามือ แก้ลมพิษ แก้พิษงูกัด แก้ไฟลามทุ่ง แก้แผลกลาย หรือนำใบสด 2-10 ใบ ขยี้หรือตำให้แหลก นำมาทาหรือพอก แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย แผลฟกช้ำจากการกระทบกระแทก แผลมีเลือดออก   ราก มีรสจืดเย็น ฝนกับสุราดื่ม ทาแก้พิษงู แมลงสัตว์กัดต่อย ถอนพิษตะขาบ แมลงป่อง

 

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
              การทดลองในสัตว์พบว่าใบมีฤทธิ์ลดอาการอักเสบ

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 17
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่