เสาวรส

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เสาวรส

ชื่อสมุนไพร เสาวรส
ชื่ออื่นๆ สุคนธรส
ชื่อวิทยาศาสตร์ Passiflora edulis f. flavicarpa O. Deg.
ชื่อพ้อง Passiflora verrucifera
ชื่อวงศ์ Passifloraceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้เถาเลื้อย ส่วนโคนเป็นไม้เนื้อแข็ง อายุหลายปี สามารถเลื้อยได้ไกลถึง 12 เมตร มีมือเกาะ ใบเดี่ยว รูปคล้ายโล่ หรือรูปไข่ ออกเรียงสลับกัน ขอบใบมักเว้าลึกเป็น 3 พู ปลายใบแหลม หรือเรียวแหลม โคนใบกลม หรือรูปหัวใจเว้าตื้น เนื้อใบค่อนข้างเหนียว ขอบใบจักฟันเลื่อย มีเส้นใบ 3 เส้น ออกจากโคนใบ ก้านใบยาว 4-4.5 เซนติเมตร ที่ปลายก้านมีต่อม หูใบรูปหอก ขอบเรียบ หรือจักฟันเลื่อย ดอกช่อกระจุก (cyme) มีดอกย่อยดอกเดียวออกตรงข้ามกับมือจับ เนื่องจากดอกกลางไม่เจริญ ดอกข้างด้านหนึ่งเปลี่ยนเป็นมือจับ ยาว 5-20 เซนติเมตร ก้านดอกยาว 2-6 เซนติเมตร ใบประดับ และใบประดับย่อยรูปไข่ ปลายมนหรือแหลม ขอบจักฟันเลื่อยเรียงกันเป็นชั้น กลีบดอกสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 4-7 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงสีเขียว กลีบเลี้ยงและกลีบดอกรูปขอบขนาน ปลายมน มีรยางค์เรียงเป็นวง 4-5ชั้น สองชั้นนอก ยาวกว่าชั้นด้านใน รยางค์รูปคล้ายเส้นด้าย ส่วนโคนสีม่วงเข้ม ส่วนปลายมีสีขาว  ดอกมีกลิ่นหอม ดอกสมบูรณ์เพศ มีก้านชูทั้งเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียให้สูงขึ้น (androgynophore) ก้านชูสูง 1-1.2 เซนติเมตรเกสรเพศเมียมี 3 อัน ยอดเกสรเพศเมียรูปไต เกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านชูอับเรณูยาว 5-6 มิลลิเมตร ฐานรองดอกรูปถ้วย ผลกลมหรือรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 4-7 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียวมีกระสีขาว เมื่อสุกจะมีสีเหลืองนวล มีเมล็ดจำนวนมาก รูปไข่ สีน้ำตาลเข้มหรือดำ ขนาด 5-6 มิลลิเมตร แต่ละเมล็ดถูกหุ้มด้วยรกซึ่งบรรจุน้ำสีเหลืองลักษณะเหนียวข้น ภายในผลมีน้ำมาก ผลและเมล็ดรับประทานได้ มีรสเปรี้ยว และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ออกดอกตลอดปี มีถิ่นกำเนิดที่ประเทศบราซิลตะวันออก เวเนซุเอลา เปรู และหมู่เกาะอินดีสตะวันตก ประเทศไทยนำเข้ามาปลูกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 นิยมนำมาทำเครื่องดื่มน้ำผลไม้

 

ลักษณะวิสัย

 

ใบ

 

ดอก

 

ผล

 

ผล

 

ผล และ เมล็ด


สรรพคุณ    
               ตำรายาไทย  ใช้ ผลแก่จัด คั้นเอาน้ำดื่มเป็นน้ำผลไม้ ลดไขมันในเส้นเลือด

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 0
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่