หนาดใหญ่

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

หนาดใหญ่

ชื่อสมุนไพร หนาดใหญ่
ชื่ออื่นๆ หนาด (จันทบุรี) คำพอง หนาดหลวง (เหนือ) ผักชีช้าง พิมเสน (กลาง) ใบหรม (ใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Blumea balsamifera (L.) DC.
ชื่อพ้อง Blumea grandis
ชื่อวงศ์ Asteraceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีกลิ่นหอมคล้ายการบูร สูง 1-4 เมตร ลำต้นกลม กิ่งก้านมีขนนุ่มยาว เปลือกต้นสีน้ำตาลเทา มีกลิ่นหอมของการบูร ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปวงรีแกมขอบขนาน ผิวใบทั้งสองด้านมีขนละเอียดหนาแน่น คล้ายเส้นไหม และมีกลิ่นหอม กว้าง 2-20 เซนติเมตร ยาว 8-40 เซนติเมตร ปลายใบ และโคนใบแหลม ขอบใบหยักแบบซี่ฟัน หรือฟันเลื่อย ก้านใบมีรยางค์ 2-3 อัน ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่งหรือซอกใบ เป็นช่อกลม ช่อดอกมีขนาดโตไม่เท่ากัน กว้าง 6-30 เซนติเมตร ยาว 10-50 เซนติเมตร มีริ้วประดับหลายชั้น บางครั้งริ้วประดับอาจยาวกว่าดอก  รูปขอบขนาน แคบยาว 1-9 มิลลิเมตร ปลายแหลม ด้านหลังมีขนนุ่มหนาแน่น ดอกย่อยมีเป็นจำนวนมาก กลีบดอกสีเหลือง ฐานดอกมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-4 มิลลิเมตร ดอกสมบูรณ์เพศมีหลอดดอกยาว 4-7 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นหลอด รูปไข่ ปลายแหลม มีขนนุ่ม ดอกตัวเมียมีหลอดดอกเล็กเรียว ยาวไม่เกิน 6 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็น 2-4 แฉก เกลี้ยง ผลแห้งไม่แตก รูปขอบขนาน ยาวราว 1 มิลลิเมตร สีน้ำตาล โค้งงอเล็กน้อย เป็นเส้น 5-10 เส้น มีขนสีขาว


 

ลักษณะวิสัย

 

ลักษณะวิสัย

 

ยอดอ่อน

 

ลำต้น

 

ใบ

 

ดอก

 

ดอก

 

สรรพคุณ    
              หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี  ใช้  ลำต้นและใบ เข้ายากับใบเปล้าใหญ่ และใบมะขาม ต้มน้ำอาบ แก้วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย
              ตำรายาไทยและยาพื้นบ้าน  ใช้  ใบ มีกลิ่นหอมฉุน มีรสเมาร้อน แก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อ เป็นยาห้ามเลือด ยาเจริญอาหาร แก้โรคไขข้ออักเสบ เป็นยาบำรุงหลังคลอด แก้ไข้ ลดความดันโลหิต ขับพยาธิ ระงับประสาท ขับลม แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ แก้ปวดท้อง ขับเหงื่อ ขับเสมหะ แก้มุตกิด ใบและยอดอ่อน กลั่นด้วยไอน้ำ จะได้พิมเสนตกผลึกออกมา นำมาทำเป็นยากิน แก้ปวดท้อง ท้องร่วง หรือใช้ขับลม ใช้ภายนอกเป็นผงใส่บาดแผล แก้แผลอักเสบ แก้กลากเกลื้อน และแผลฟกช้ำ ใบและยอดอ่อน ต้มกินเป็นยาแก้ไข้ ขับเหงื่อ แก้จุกเสียด แน่นเฟ้อ ปวดท้อง ขับเสมหะ แก้ริดสีดวงจมูก ขับลมในลำไส้ ขับพยาธิ แก้บิด บำรุงกำลัง หรือใช้ภายนอก บดเป็นผงผสมสุรา ใช้พอกหรือทาแผลฟกช้ำ ฝีบวมอักเสบ แผลฝีหนอง บาดแผลสด ห้ามเลือด แก้ปวดหลังเอว ปวดข้อ และแก้กลากเกลื้อน ใบสด หั่นเป็นฝอยเหมือนยาเส้น ตากแดดพอหมาดๆ มวนกับยาฉุน สูบ แก้ริดสีดวงจมูก (โรคติดเชื้อที่เกิดในจมูก ทำให้หายใจขัด มีฝีหนองในจมูก โพรงจมูกอักเสบ) ยาชงของ ใบ เป็นยาบำรุงธาตุ ขับลม ขับเหงื่อ ขับเสมหะ และระดู ใช้ผสมในน้ำอาบสมุนไพรหลังคลอด บำรุงผิวหนังให้ชุ่มชื้น แก้หิด สิ่งสกัดจาก ใบ ทำให้ความดันโลหิตต่ำ ขยายเส้นเลือด ขับปัสสาวะ ใช้ในเมื่อมีอาการตื่นเต้น นอนไม่หลับ ราก มีรสร้อน ใช้ต้มน้ำดื่มแก้หวัด แก้บวม ปวดข้อ ปวดท้อง ท้องเสีย ขับลม ทำให้การหมุนเวียนโลหิตดี และแก้ปวดเมื่อยหลังคลอด ทั้งต้น รสเมาร้อนหอม แก้ไข้ แก้ลมแดด แก้เจ็บหน้าอก แก้ปวดท้อง แก้อหิวาตกโรค ขับพยาธิ ลดความดันเลือด ระงับประสาท
            ยาพื้นบ้าน  ใช้  ใบ บดผสมกับต้นข่อย แก่นก้ามปู พิมเสน และการบูร มวนด้วยใบตองแห้งสูบ รักษาโรคหืด ในใบพบสาร cryptomeridion มีฤทธิ์ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ เช่น กล้ามเนื้อหลอดลม
            ยาพื้นบ้านนครราชสีมา  ใช้  ใบ รักษาโรคเรื้อน โดยตำใบให้ละเอียด ใส่ด่างทับทิมและน้ำพอประมาณ นำมาปิดบริเวณที่เป็นแผล
            ประเทศจีน  ใช้  ใบ ขับลม ขับพยาธิ และทำให้แท้ง

องค์ประกอบทางเคมี    

            เมื่อกลั่นใบด้วยไอน้ำจะได้น้ำมันระเหยง่าย ประกอบด้วย d-carvo-tanacetone 1-tetrahydrocarvone mixture ของ butyric isobutyric และ n-octanoic acids, 1-borneol 1,8-cineol อนุพันธ์ของ carvotanacetone 2 ชนิด diester ของ coniferyl alcohol อนุพันธ์ของ polyacetylenes และ thiophene campesterol stigmasterol sitosterol xanthoxylin erianthin สารฟลาโวนอยด์คือ 4’-methyl ether และ 4’, 7- dimethyl ether ของ dihydroquercetin สาร sesquiterpene ชื่อ cryptomeridion

 

ข้อมูลเครื่องยา :phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 12
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่