หัวฆ้อนกระแต

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

หัวฆ้อนกระแต

ชื่อสมุนไพร หัวฆ้อนกระแต
ชื่ออื่นๆ หัวข้าวเย็นใต้ ยาข้าวเย็น (อุบลราชธานี) ละครโคก (ภาคตะวันออก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Premna herbacea Roxb.
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์ Lamiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
            ไม้พุ่ม สูง 1-1.5 เมตร กิ่งมีขนสั้น สีขาวอมน้ำตาลหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานถึงรูปใบหอก ยาว 10-18 ซม. กว้าง 3-7 ซม. ปลายใบมน โคนใบรูปลิ่ม ขอบใบจักฟันเลื่อย ผิวใบด้านบนมีขนสั้นสีขาวอมน้ำตาลกระจายทั่วแผ่นใบ ด้านบนมีต่อมขนาดเล็กสีเหลือง และขนสั้นขึ้นบริเวณเส้นใบ ก้านใบ สั้นมาก ช่อดอก แบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายยอด กลีบเลี้ยง รูปถ้วย ยาว 2.3-2.6 มม. หลอดกลีบดอก ยาว 1.4-1.5 มม. แฉกกลีบเลี้ยง มี 5 แฉก ขนาดใกล้เคียงกัน รูปไข่ ปลายมน ขอบเรียบมีขนสั้น ผิวด้านนอกมีขนสั้นและต่อมสีเหลืองขนาดเล็ก ด้านในมีต่อมสีเหลืองขนาดเล็กหนาแน่น กลีบดอก สีเหลืองอ่อน แฉกกลีบดอก มี 4 แฉก รูปกึ่งปากเปิด ผิวด้านนอกมีขนสั้นทั่วไป ด้านในเกือบเกลี้ยง หรือมีขนสั้นขนาดเล็ก เกสรเพศผู้ มี 4 อัน ขนาดใกล้เคียงกัน ติดบนกลีบดอกสลับกับแฉกกลีบดอกที่ระดับเดียวกัน อับเรณู 2 เซลล์ รูปไข่แกมรี ยาว 0.4-0.5 มม. กว้าง 0.15-0.2 มม. แตกตามยาว เกสรเพศเมีย มีรังไข่รูปกลม มีรอยเว้าตื้น ผิวเกลี้ยง ผลย่อย รูปไข่ ยาว 3.5-4 มม. กว้าง 4-4.5 มม.



 

ลักษณะวิสัย

 

ดอก

 

ดอก

 

ผล



สรรพคุณ    
              ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี  ใช้  ราก ต้มน้ำดื่ม แก้ไข้ หรือเข้ายาแก้อัมพฤกษ์ อัมพาต
              ยาพื้นบ้านอีสาน  ใช้  ราก ผสมหัวข้าวเย็นเหนือ ลำต้นส้มกุ้ง เปลือกต้นสะเดาช้าง และลำต้นขมิ้นเครือ ต้มน้ำดื่ม แก้มะเร็ง ผสมลำต้นขี้เหล็กและลำต้นหนามหัน ต้มน้ำดื่ม แก้มะเร็ง รักษากามโรค ราก ผสมรากทองพันชั่ง และรากเล็บเหยี่ยว ต้มน้ำดื่ม รักษาแผลเรื้อรัง
              ยาพื้นบ้านภาคกลาง  ใช้  ราก ผสมลำต้นและใบทองพันชั่ง หัวข้าวเย็นเหนือ ลำต้นหรือรากเถาวัลย์ยั้ง ลำต้นข่อยน้ำ และลำต้นหรือรากขันทองพยาบาท ต้มน้ำดื่ม แก้มะเร็ง

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 2
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่