เหงือกปลาหมอ
ชื่อสมุนไพร | เหงือกปลาหมอ |
ชื่ออื่นๆ | แก้มหมอ (สตูล) แก้มหมอเล (กระบี่) อีเกร็ง (ภาคกลาง) จะเกร็ง อีเกร็ง เหงือกปลาหมอน้ำเงิน |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Acanthus ebracteatus Vahl. |
ชื่อพ้อง | |
ชื่อวงศ์ | Acanthaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่มล้มลุกขนาดเล็ก สูง 0.5-1 เมตร ลำต้นกลม กลวง ตั้งตรง สีขาวอมเขียว มีหนามตามข้อ ข้อละ 4 หนาม และที่ปลายใบ ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 เซนติเมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามเป็นคู่ ใบรูปหอกยาว ขอบจักเว้ากว้างๆ ปลายจักแหลมคล้ายหนาม แต่บางครั้งอาจพบใบเรียบ กว้าง 3-7 เซนติเมตร ยาว 10-20 เซนติเมตร แผ่นใบสีเขียวเข้ม เส้นใบสีขาว มีเหลือบสีขาวเป็นแนวก้างปลา มีหนามรอบใบ แผ่นใบเรียบเป็นมันลื่น เนื้อใบเหนียว ก้านใบสั้น ดอกออกเป็นช่อตั้งสีขาว บริเวณปลายยอด ยาวประมาณ 4-6 นิ้ว ใบประกอบห่อเป็นช่อตั้ง แต่ละดอกมีใบประดับรูปเรียว 2 อัน รองรับที่โคนดอก และติดอยู่จนดอกบาน กลีบดอกเป็นท่อปลายบานโตสีขาว ยาว 2-4 เซนติเมตร แบ่งเป็น 2 ปาก ปากล่างมีขนาดใหญ่กว่า ปากล่างสีม่วงอ่อนหรือฟ้าอ่อน มีแถบสีเหลืองตรงกลางกลีบ ปากบนหดสั้น กลีบเลี้ยง มี 5 กลีบ ผลเป็นฝักกลมรี รูปไข่ ยาว 2-3 เซนติเมตร เปลือกสีน้ำตาล ปลายฝักป้าน ผิวเปลือกสีน้ำตาล ข้างในมีเมล็ดขนาดเล็ก 4 เมล็ด พบตามป่าชายเลน หรือดินเค็มแถบภาคอีสาน
ลักษณะวิสัย
ใบ
ดอก
ผล
สรรพคุณ
ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ ใบ ต้มกับน้ำดื่ม แก้นิ่วในไต ทั้งต้น 10 ส่วน เข้ากับพริกไทย 5 ส่วน ทำเป็นยาลูกกลอน แก้โรคกระเพาะ ขับเลือด เป็นยาอายุวัฒนะ ทั้งต้น ใช้รักษาแผลฝีหนอง
ตำรายาพื้นบ้านนครราชสีมา ใช้ ใบและต้น แก้ตกขาว โดยตำเป็นผงละลายน้ำผึ้ง หรือน้ำมันงา ปั้นเป็นลูกกลอนรับประทาน
ตำรายาไทย ใช้ ใบ รสเค็มกร่อยร้อน ตัดรากฝีภายใน และภายนอกทุกชนิด แก้น้ำเหลืองเสีย ปรุงกับฟ้าทะลายโจร รมหัวริดสีดวงทวาร คั้นน้ำจากใบทาศีรษะ ช่วยบำรุงรักษารากผม แก้ประดง ใบเป็นยาอายุวัฒนะโดยปรุงรวมกับพริกไทย ในอัตราส่วน 2:1 บดทำเป็นยาลูกกลอน กินครั้งละ 1-2 เม็ด ใบสด นำมาต้มกินเป็นยาแก้ไข้ ลมพิษฝี แก้ฝีทราง หรือใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียด ใช้พอกบริเวณแผลที่ถูกงูกัด พอกฝี และแผลอักเสบ ต้นและเมล็ด มีรสเผ็ดร้อน รักษาฝี แก้โรคน้ำเหลืองเสีย เมล็ด เป็นยาขับพยาธิ เมล็ดผสมกับดอกมะเฟือง เปลือกอบเชย และน้ำตาลกรวด นำมาต้มรวมกันเอาน้ำกินเป็นยาแก้ไอ ขับเลือด หรือใช้เมล็ดคั่วให้เกรียม นำมาป่นให้ละเอียดชงกินกับน้ำ เป็นยาแก้ฝี ทั้งต้น มีรสเค็มกร่อย ทั้งต้นสด รักษาโรคผิวหนังจำพวกพุพอง น้ำเหลืองเสีย ใช้ 3-4 ต้น หั่นเป็นชิ้น ต้มน้ำอาบหรือชะล้างบาดแผลเรื้อรัง และผื่นคันตามร่างกาย ต้มรับประทานแก้พิษฝีดาษ พิษฝีภายใน ตัดรากฝีทั้งปวง แก้โรคผิวหนัง น้ำเหลืองเสีย เป็นยาอายุวัฒนะ ต้มอาบ แก้พิษไข้หัว แก้โรคผิวหนังผื่นคัน ตำพอก ปิดหัวฝี แผลเรื้อรัง คั้นเอาน้ำทาศีรษะบำรุงรากผม ราก ใช้รากสด นำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้โรคงูสวัด
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/