เหมือดโลด
ชื่อสมุนไพร | เหมือดโลด |
ชื่ออื่นๆ | กรม (ใต้); ด่าง แด่งพง (สุโขทัย) ; ตีนครึน พลึง โลก (กลาง) ; ประดงข้อ (พิจิตร) เหมือดควาย เหมือดตบ (เหนือ) เหมือดหลวง (เชียงใหม่) เหมือดใหญ่ โลด |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Aporosa villosa (Wall. ex Lindl.) Baill. |
ชื่อพ้อง | Scepa villosa |
ชื่อวงศ์ | Euphorbiaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 6-15 เมตร เปลือกต้นสีเทาดำ หนา แตกเป็นร่องลึกตามยาว ยอดอ่อนและช่อดอกมีขนสีน้ำตาลอมเหลืองหม่นขึ้นหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ แผ่นใบรูปขอบขนานกว้าง หรือรูปรีแกมรูปไข่ กว้าง 6-10 เซนติเมตร ยาว 10-16 เซนติเมตร ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนมนหรือรูปหัวใจตื้น ขอบใบเรียบ หรือมีคลื่นเล็กน้อย ผิวด้านบนมีขนประปราย ผิวใบด้านล่างมีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ผิวใบด้านบนค่อนข้างสาก แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นแขนงใบข้างละ 8-11 เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแหชัดเจนทั้งสองด้าน ก้านใบยาว 1.2-1.8 เซนติเมตร หูใบรูปไข่ยาว 4-6 มิลลิเมตร ร่วงง่าย ดอกเล็ก สีเหลืองอ่อน แยกเพศ ออกเป็นช่อ แบบช่อหางกระรอก กระจุกตามซอกใบและกิ่งหรือเหนือรอยแผลใบตามกิ่ง ดอกแยกเพศอยู่ต่างต้นกัน ช่อดอกเพศผู้ออกเป็นแท่งยาว มีหลายช่ออยู่ด้วยกัน ไม่มีก้านช่อดอก ไม่มีกลีบดอก เป็นช่อเชิงลด 2-6 ช่อ ยาว 1-5 เซนติเมตร มีขนสั้นหนานุ่ม เกสรเพศผู้มี 2 อัน ไม่มีกลีบดอก แต่ละดอกมีใบประดับขนาดเล็กรูปสามเหลี่ยม ยาว 1-1.5 มิลลิเมตร ช่อดอกเพศเมียออกเป็นช่อเดี่ยวสั้นๆ แบบช่อเชิงลด สั้นกว่าช่อดอกเพศผู้ ออกที่ซอกใบหรือที่กิ่ง ติดลำต้น อยู่เป็นกระจุก 2-8 ดอก แต่ละดอกไม่มีก้าน และมีสีเหลืองอ่อน ดอกเพศเมียยาว 2.5-4.5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงมี 3-6 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยก เกสรเพศเมียมีรังไข่เหนือวงกลีบ มี 2 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด มีขนสีน้ำตาลหนาแน่น ผลรูปไข่ แห้งแตกตามตะเข็บ 1-2 ด้าน มีขนสีน้ำตาลปนเหลืองปกคลุม กว้างประมาณ 0.7 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ปลายเป็นแฉก ผลแก่สีน้ำตาลอมเหลือง ไม่มีก้านผล มีขนสั้นหนานุ่ม เมื่อแตกเห็นภายในมีเนื้อสีส้มแดง มี 1 เมล็ด เมล็ดมีเยื่อสีเหลืองหุ้ม เมล็ดรูปขอบขนาน กว้าง 6-7 มิลลิเมตร ยาว 7-8 มิลลิเมตร ผิวเรียบ พบตามป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าสน ป่าเบญจพรรณ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ออกดอกช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม เปลือกต้นมียางสีแดงใช้ทำสีย้อม
ลักษณะวิสัย
เปลือกลำต้น
ใบ
ดอกเพศผู้
ดอกเพศผู้
ดอกเพศเมีย
ผล
ผล
ผลสุก
สรรพคุณ
หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ ลำต้น เข้ายากับ ดูกข้าว ดูกไส ดูกหิน ดูกผี แตงแซง ส้มกบ ส้มมอดิน และพากส้มมอ แก้ตัวเหลือง ตาเหลือง
หมอยาพื้นบ้านมุกดาหาร ใช้ เข้ายาโรคกระเพาะอาหาร
หมอยาพื้นบ้านภาคเหนือ ใช้ เปลือกและเนื้อไม้สด เคี้ยวแก้ไข้
ตำรายาไทย ใช้ เปลือกต้น มียางสีแดงใช้เป็นสีย้อม ปรุงเป็นยาขับลำไส้ และขับระดู แก้แน่นจุกเสียด
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/