เหียง
ชื่อสมุนไพร | เหียง |
ชื่ออื่นๆ | สะแบง (อุตรดิตถ์ ตะวันออกเฉียงเหนือ) ตะแบง (ตะวันออกเฉียงเหนือ) เหียงพลวง ตาด (พล จันทบุรี) ซาด (ชัยภูมิ); เหียงพลวง เหียงโยน (ประจวบคีรีขันธ์) เห่ง (น่าน) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Dipterocarpus obtusifolius Teijsm.ex Miq. |
ชื่อพ้อง | Dipterocarpus punctulatus |
ชื่อวงศ์ | Dipterocarpaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ต้นขนาดกลางสูง 8-30 เมตร ผลัดใบ เปลือกหนาสีน้ำตาลหรือเทา แตกเป็นสะเก็ดหนา และเป็นร่องลึก ตามยาว เนื้อไม้สีแดงอ่อนถึงน้ำตาลปนแดง เรือนยอดเล็กสีบรอนส์ออกสีเขียว กิ่งอ่อนและใบมีขนสีขาวปกคลุม ใบ เดี่ยว เรียงเวียนสลับ แผ่นใบรูปไข่ ขนาดใหญ่ กว้าง 10-20 เซนติเมตร ยาว13-25 เซนติเมตร ปลายมน โคนมนหรือหยักเว้าตื้น ฐานเป็นรูปหัวใจ ใบอ่อนมีขนยาวแหลม ผิวใบด้านบนและด้านล่างมีขน แต่น้อย ใบด้านบนเขียวเข้ม มีขนบนเส้นใบ และขอบใบ เนื้อใบหนาคล้ายแผ่นหนัง มีขนสีน้ำตาล ด้านล่างสีบรอนส์ออกสีเขียว มีขนเป็นรูปดาวบนเส้นใบ และขนสีขาวยาวกว่าด้านบน เส้นใบข้าง 10-18 คู่ มีขนสีน้ำตาลอมเหลือง ก้านใบยาว 3-5 เซนติเมตร มีขนหนาแน่น พื้นใบจีบเป็นร่องระหว่างเส้นแขนงใบ ขอบใบเรียบเป็นหยักคลื่นตามเส้นใบ เส้นใบเป็นสันเด่นชัดด้านท้องใบ ใบอ่อนพับจีบชัดเจนตามแนวเส้นแขนงใบ มีหูใบหุ้มยอดอ่อน หูใบรูปแถบกว้าง ปลายมน ผิวด้านนอกมีขนสั้นหนานุ่ม หูใบยาว 7-12 เซนติเมตร สีชมพูสด ดอกออกรวมเป็นช่อเดี่ยวตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลุ่มละ 3-7 ดอก ขนาดดอก 3.5-5 เซนติเมตร แกนก้านรูปซิกแซก ก้านช่อดอกยาว 2-5 เซนติเมตร และมีขนหนาแน่น ก้านดอกย่อยมีตั้งแต่สั้นมากจนยาวได้ถึง 1 เซนติเมตร กลีบดอก 5 กลีบ สีชมพูสด กลีบดอกรูปกรวย โคนกลีบชิดกันปลายบิดเวียนเป็นรูปกังหัน เส้นผ่าศูนย์กลางดอก 4-5 เซนติเมตร ขนาดกลีบ กว้าง 0.5-1 เซนติเมตร ยาว 4.8-5 เซนติเมตร ผิวด้านนอกมีขนสั้นรูปดาวปกคลุม เกสรตัวผู้มีประมาณ 30 อัน อัดแน่นรอบรังไข่ อับเรณูรูปหัวลูกศร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขน มี 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด กลีบเลี้ยงขนาด 1.4 เซนติเมตร มี 5 กลีบ มีขนหนาแน่น ใบประดับที่ก้านดอกย่อยรูปใบหอกหรือรูปแถบ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติกันเป็นรูปถ้วย ยาว 1-1.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 5 แฉก มีสองขนาด แฉกยาว 2 แฉก กว้าง 2-3 มิลลิเมตร ยาว 1-1.2 เซนติเมตร แฉกสั้น 3 แฉก กว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร ยาว 4-5 มิลลิเมตร ผลแห้งแบบผลผนังชั้นในแข็ง ผลกลม แข็ง เกลี้ยง ไม่มีสันหรือปุ่มด้านบน เมื่ออ่อนมีขนปกคลุม เมื่อแก่เรียบเกลี้ยง ผลแก่สีน้ำตาลเป็นมัน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร ปีกที่พัฒนามาจากกลีบเลี้ยงมี 5 ปีก ปีกยาวรูปขอบขนาน 2 ปีก กว้าง 2.3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 13 เซนติเมตร มีเส้นตามยาวปีก 1 เส้น เส้นย่อยสานเป็นร่างแห อีก 3 ปีกเล็ก มีขนาดยาว 1-1.5 เซนติเมตร มีหยักลึก ปีกอ่อนสีแดงสด มีเมล็ด 1 เมล็ด เป็นไม้เด่นที่พบในป่าเต็งรัง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม ดอกเมื่อบานเต็มที่ จะร่วงลงสู่พื้น กลีบดอกรับประทานได้ เป็นผักชนิดหนึ่ง มีรสเปรี้ยวเล็กน้อย ชาวบ้านใช้จิ้มน้ำพริก ยางไม้ใช้ยาเครื่องจักสาน ยาไม้แนวเรือ ทำใต้ ทาไม้ ใบแก่เย็บเป็นตับมุงหลังคาหรือเถียงนา กั้นฝา ห่ออาหาร
ลักษณะวิสัย
เปลือกลำต้น
ใบ และ ยอดอ่อน
ยอดอ่อน
ช่อดอก
ดอก
ผล
ผล
สรรพคุณ
ตำรายาไทย ใช้ ใบ รสฝาด ต้มน้ำผสมน้ำเกลือ อมแก้ปวดฟัน ฟันโยกคลอน ใบและยาง รสฝาดร้อน กินเป็นยาตัดลูก (ทำให้ไม่มีบุตร) น้ำมันยาง สมานแผล แก้หนอง ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ รักษาแผลในทางเดินปัสสาวะ แก้ตกขาว ยาง รสร้อน สมานแผล แก้หนอง ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ รักษาแผลในทางเดินปัสสาวะ แก้ตกขาว น้ำมัน ใช้ทาแผลภายนอก เปลือกต้น ต้มน้ำดื่มแก้ท้องเสีย
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/