อัญชัน

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

อัญชัน

ชื่อสมุนไพร อัญชัน
ชื่ออื่นๆ แดงชัน (เชียงใหม่) เอื้องชัน (เหนือ) เอื้องจัน แดงจัน อังจัน(เหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Clitoria ternatea L.
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์ Fabaceae (Leguminosae-Papilionoideae)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
              ไม้ล้มลุกเลื้อยพัน นิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามรั้วหรือซุ้ม เถากลมเล็กเรียว สีเขียวอ่อน เถาอ่อน กิ่งอ่อน หูใบ ก้านใบ แกนใบประกอบ แผ่นใบด้านล่าง ก้านดอก ใบประดับ และกลีบเลี้ยง มีขนนุ่ม แตกกิ่งก้านตามข้อใบ เถายาว 1-5 เมตร ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ใบย่อย 2-3 คู่ ใบบาง สีเขียว แต่ละใบมี ใบย่อย 5-9 ใบ ใบย่อยรูปวงรีแกมขอบขนานหรือรูปวงรีแกมไข่กลับ กว้าง 1-3 เซนติเมตร ยาว 2-5 เซนติเมตร แกนกลางใบประกอบยาว 3-7 เซนติเมตร รวมก้านที่ยาว 1-3 เซนติเมตร ผิวใบมีขนปกคลุมทั้งสองด้าน หรือบางครั้งผิวด้านบนเกลี้ยง ขอบใบเรียบ โคนใบสอบ ปลายใบมน ปลายเป็นติ่งแหลมสั้นๆ แผ่นใบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างบาง เส้นแขนงใบ ข้างละ 4-5 เส้น หูใบรูปใบหอก ขนาดเล็ก ปลายแหลมยาว ยาว 2-5 มิลลิเมตร ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ มี 1-2 ดอก กลีบดอก รูปดอกถั่ว มี 5 กลีบ แบ่งเป็น 2 ปาก ปากล่างขนาดใหญ่ ขอบมน กลีบดอกย่นบาง ตรงกลางดอกมีแถบสีเหลืองขาว กลีบเลี้ยงสีเขียวมี 5 กลีบ โคนติดกัน ยาว 1.5-2 เซนติเมตร แผ่นกลีบบาง ปลายแยกเป็น 5 แฉก แฉกลึกประมาณกึ่งหนึ่งหรือน้อยกว่า ปลายแฉกแหลมยาว ดอกมีสีสีน้ำเงิน ม่วง หรือขาว ตรงกลางกลีบสีเหลืองหม่นขอบสีขาว รูปดอกถั่ว แต่ละกลีบมีขนาดไม่เท่ากัน มีกลีบใหญ่ที่สุด 1 กลีบ ซึ่งจะมีจุดแต้มสีเหลืองกลางกลีบ ชนิดนี้เรียกว่าพันธุ์ดอกลา บางครั้งกลีบดอก 5 กลีบมีกลีบใหญ่มากกว่า 1 กลีบ ทำให้ดูเหมือนมีกลีบดอกหลายชั้น เรียกว่าพันธุ์ดอกซ้อน กลีบกลางรูปรีกว้างเกือบกลม ยาวประมาณ 3.5 เซนติเมตร ก้านกลีบสั้นๆ ในดอกสีน้ำเงินหรือชมพูมีปื้นสีขาวช่วงกลางกลีบด้านโคน กลีบปีกและกลีบคู่ล่าง ขนาดเล็กกว่ากลีบกลางประมาณ กึ่งหนึ่ง มีก้านกลีบเรียวยาวเท่าแผ่นกลีบ กลีบข้างรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กลีบคู่ล่างรูปรี เกสรเพศผู้ติดสองกลุ่ม 9 อัน ติดกันประมาณ 2 ใน 3 ส่วน เกลี้ยง ยาวเท่ากลีบปีกและกลีบคู่ล่าง รังไข่รูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร มีขนยาว ก้านเกสรเพศเมียเรียวยาว มีขนยาวหนาแน่นช่วงปลายด้านใน ก้านช่อยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ใบประดับขนาดเล็กออกเป็นคู่ ยาว 2-3 มิลลิเมตร ใบประดับย่อยมีขนาดใหญ่กว่าใบประดับ มี 1 คู่ รูปไข่กว้างเกือบกลม ขนาดประมาณ 5 มิลลิเมตร มีเส้นใบชัดเจน ก้านดอกสั้นๆ ยาว 2-3 มิลลิเมตร ผลเป็นฝัก รูปดาบ แบนยาว ขนาดกว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 5-12 เซนติเมตร  มีขนสั้นนุ่ม ปลายเป็นจะงอยสั้นๆ ฝักอ่อนมีสีเขียว พอแก่มีสีน้ำตาลอ่อน แตกเป็น 2 ฝา เมล็ดรูปไต สีดำ ยาวได้ประมาณ 5 มิลลิเมตร จำนวน 6-10 เมล็ด พบตามแนวชายป่า ป่าละเมาะ ที่ทิ้งร้าง ชอบที่แห้ง ใช้ดอกแต่งสีอาหาร และขนมหลายชนิดสีน้ำเงินจากดอกเป็นสีที่ละลายน้ำได้
 

ลักษณะวิสัย

 

ใบ  และ  ดอก

 

ดอก

 

ดอก

 

ดอก

 

ผล


สรรพคุณ    
               ยาพื้นบ้านอีสาน  ใช้ ราก ฝนกับรากสะอึกและน้ำซาวข้าว กินหรือทา แก้งูสวัด
               ตำรายาไทย  ใช้ เมล็ด รสมัน เป็นยาระบาย แต่มักทำให้คลื่นไส้อาเจียน  ราก รสขมเย็น
นิยมใช้ รากดอกขาว ขับปัสสาวะ เป็นยาระบาย ฝนหยอดตาแก้ตาเจ็บ ตาฟาง ทำให้ตาสว่าง ทำยาสีฟัน ใช้รากถูฟัน ทำให้ฟันทน แก้ปวดฟัน ราก รสเบื่อเมา ปรุงเป็นยากินและพอก ถอนพิษสุนัขบ้า

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 8
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่