หางหมาจอก
ชื่อสมุนไพร | หางหมาจอก |
ชื่ออื่นๆ | หญ้าหางแมว (สตูล)หางกระรอก(กรุงเทพมหานคร) หญ้าตะขาบ (ราชบุรี) เสลดพังพอนกะเหรี่ยง (กาญจนบุรี) ขี้หนอน หางหมา หางอ้น |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Uraria crinita (L.) Desv. ex DC. |
ชื่อพ้อง | |
ชื่อวงศ์ | Leguminosae-Papilionoideae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง สูง 0.5-1.5 เมตร ใบประกอบแบบขนนก ปลายคี่ เรียงสลับ ใบย่อย 3-11 ใบ รูปวงรีแกมขอบขนาน แกมใบหอก กว้าง 3.5 เซนติเมตร ยาว 8-15 เซนติเมตร แผ่นใบเหนียว ผิวใบมัน ปลายใบแหลม ฐานใบมน ขอบใบเรียบ ดอกช่อกระจะ ออกที่ซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกย่อยจำนวนมากเรียงตัวอัดกันแน่นเป็นแท่ง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร ยาว 15-20 เซนติเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบ รูปดอกถั่ว สีขาวปนม่วง หรือ สีม่วงแกมชมพู ก้านดอกย่อยมีขนยาว ปลายขนงอเป็นตะขอ กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เกสรเพศผู้มี 10 อัน ค่อนข้างแข็ง ผลเป็นฝักรูปขอบขนาน แบน คอดเป็นข้อๆ พับงอไปมา เมื่อสุกสีดำ ไม่แตก ออกดอกช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม พบตามป่าดงดิบเขา ป่าเบญจพรรณทั่วไป ใบและช่อดอกนำไปใส่ในไหปลาร้า ให้หนอนแมลงวันเกาะขึ้นมาแล้วเคาะทิ้ง
ลักษณะวิสัย
ลักษณะวิสัย
ช่อดอกตูม
ช่อดอก
ช่อดอก และ ฝัก
ดอก
ดอก
ช่อดอก ฝักอ่อน และ ฝักแก่
ผล และ เมล็ด (กลม สีดำ)
สรรพคุณ
ราก ผสมรากแกลบหนู รากกาสามปีกใหญ่ รากกาสามปีกเล็ก และรากโมกมัน ต้มน้ำดื่ม แก้อาการทางประสาท ฝนน้ำปูนใสทา รักษาฝี
ยาพื้นบ้านล้านนา ใช้ ทั้งต้น ผสมหัวยาข้าวเย็น ต้มน้ำดื่ม แก้ปวดเมื่อย
ตำรายาไทย ใช้ ราก รสจืด ฝนกับสุรา หรือน้ำมะนาวรับประทาน และทาแก้พิษงู พิษขบกัด
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/