ว่านหมาว้อ
ชื่อสมุนไพร | ว่านหมาว้อ |
ชื่ออื่นๆ | ว่านชักมดลูก ว่านหมาว้อ (อุบลราชธานี) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Curcuma comosa Roxb. |
ชื่อพ้อง | |
ชื่อวงศ์ | Zingiberaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ล้มลุกเนื้ออ่อน สูง 40-60 เซนติเมตร มีเหง้าใต้ดิน หัวเจริญในฤดูฝน และแห้งในฤดูหนาว หัวรูปกลมโต ป้อม เนื้อในสีขาว ใบ มี 1-2 ใบ กลางใบ มีแถบสีแดงเข้ม ผิวใบทั้งสองด้านเกลี้ยง มีต่อมเล็กสีน้ำตาลแดงระจายอยู่ทั่วไปทั้งสองด้าน กาบใบ ยาว 13-15 ซม. แผ่นใบ รูปไข่แกมหอก กว้าง 8-11 เซนติเมตร ยาว 22-36 เซนติเมตร กระจุกใบประดับ (coma bract) มีขนาด กว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร ยาว 2-3 เซนติเมตร และมีสีชมพูเข้มทั่วทั้งแผ่นใบประดับ ช่อดอก เจริญจากโคนลำต้น ก้านช่อดอก สั้น ช่อดอก กว้าง 6-7 เซนติเมตร ยาว 13-15 เซนติเมตร ใบประดับ รูปไข่แกมหอก พบตามป่าเบญจพรรณและป่าชื้นทั่วๆไป
ลักษณะวิสัย
ใบ
ช่อดอก
ดอก
เหง้าใต้ดิน
สรรพคุณ
ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ เหง้า ฝนทาแผล แก้พิษสุนัขกัด
ตำรายาไทย เหง้า รักษาเลือดออกจากมดลูกหลังคลอด รักษามดลูกอักเสบ แก้ตับอักเสบ แก้ปวดท้อง ขับน้ำดี รักษาอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ, ปวดท้องระหว่างมีประจำเดือน ตกขาว ขับน้ำคาวปลา แก้ธาตุพิการอาหารไม่ย่อย แก้ริดสีดวงทวาร หัวตำดองด้วยสุรารับประทานครั้งละไม่เกิน 2 ช้อนโต๊ะ สำหรับคนคลอดบุตรใหม่ ๆ แก้เจ็บปวดมดลูก ทำให้มดลูกเข้าอู่หรือเข้าที่ ไม่อักเสบ ในชายที่เป็นไส้เลื่อน หรือกระษัยกล่อนลงฝักปวดเสียวลูกอัณฑะ อัณฑะแข็งเป็นเส้น เจ็บปวด ใช้หัวฝนกับสุราทาบริเวณที่เจ็บปวด เป็นเวลา 3-4 วัน
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน
สารกลุ่มไดแอริลเฮปทานอยด์จากเหง้า เมื่อนำมาผ่านกระบวนการเมทาบอลิซึม แสดงฤทธิ์อย่างสูง เมื่อวิเคราะห์ในหลอดทดลอง โดยสามารถกระตุ้นมดลูกในหนูที่ยังไม่โตเต็มวัยที่ถูกตัดรังไข่ได้ พบว่าสาร (3R-1,7-diphenyl-(4E,6E)-4, 6-heptadiene-3-ol มีฤทธิ์แรงที่สุด โดยมีความแรงสัมพัทธ์ ร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับ 17-beta-estradiol
ป้องกันภาวะกระดูกพรุน
การ ให้สารสกัดเฮกเซนจากเหว้าว่านหมาว้อในหนูที่ถูกตัดรังไข่ออก ในขนาด 250 หรือ 500 mg/kg เป็นเวลา 5 สัปดาห์ พบว่าสามารถป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก และปริมาณแคลเซียมได้
ลดคอเลสเตอรอล
การให้สารสกัดเอทิลอะซีเตตจากเหง้าว่านหมาว้อร่วมกับอาหาร แก่หนูที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง โดยให้สารสกัดในขนาด 250-500 mg/kg ต่อวัน เป็นเวลา 7 วัน พบว่าสามารถลดระดับไตรกลีเซอไรด์ และระดับคอเลสเตอรอลในเลือด เพิ่มระดับ HDL และลด LDL เพิ่มการกำจัดคอเลสเตอรอล โดยการขับน้ำดีเพิ่มขึ้น ทำให้คอเลสเตอรอลอิสระถูกนำไปกำจัดที่ตับได้มากขึ้น
ปกป้องเซลล์เม็ดสีเรตินาที่ตา
สารไดแอริลเฮปทานอยด์ จากเหง้า 7-(3,4 dihydroxyphenyl)-5-hydroxy-1-phenyl-(1E)-1-heptene ในขนาด 20 µM ก่อนให้สารทำลายเรตินาเป็นเวลา 4 ชม. สามารถปกป้องเซลล์เม็ดสีเรตินาจากการทำลายของสาร H2O2 ที่เหนี่ยวนำให้เกิดออกซิเดชันที่เรตินาได้ โดยสามารถยับยั้งการเกิด lipid peroxidation, malondialdehyde และสารอนุมูลอิสระออกซิเจนภายในเซลล์ retinal pigment epithelial cells (ARPE-19) ของมนุษย์ในหลอดทดลองได้
ป้องกันการเรียนรู้และความจำถดถอย
การป้อนสารสกัดเฮกเซนจากเหง้าว่านหมาว้อ (ที่มีปริมาณสาร (4E,6E)-1,7-diphenylhepta-4,6-dien-3-one จำนวน 0.165mg ต่อมิลลิกรัมของสารสกัด) ให้แก่หนูที่ถูกตัดรังไข่ออก ในขนาด 250 และ 500 mg/kg เป็นเวลา 30 วัน พบว่าให้ผลเหมือนการได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจน คือสามารถป้องกันการเรียนรู้และความจำถดถอยในหนูได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสามารถเหนี่ยวนำให้ estradiol มีความจำเพาะในการจับกับตัวรับในมดลูกได้เพิ่มมากขึ้น
ลดการอักเสบในระบบประสาทและสมอง
สารสกัดเฮกเซนจากเหง้า ความเข้มข้น 10-9 to 10-5 g/ml กดการสร้างสารไนตริกออกไซด์ (NO) ในเซลล์ microglia ของสมองหนู (microglia เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดแมคโครฟาจที่พบในระบบประสาทส่วนกลาง) โดยสารสกัดจากเหง้า ออกฤทธิ์สูงในการยับยั้งการอักเสบโดยลดการสร้างสารไนตริกออกไซด์ในสมอง
ฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารเมลานิน
สารกลุ่ม diarylheptanoids จากเหง้าแห้ง ชื่อ (3R)-1,7-bis(4-hydroxyphenyl)-(6E)-6-hepten-3-ol มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารเมลานินในหลอดทดลอง (ทดสอบด้วยเซลล์ชนิด B16 melanoma 4A5 cells) พบว่า สารชนิดนี้สามารถยับยั้งการสร้างเมลานิน โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 0.36 µM และไม่เกิดพิษต่อเซลล์ โดยออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน arbutin (IC50 เท่ากับ 174 µM)
เพิ่มอัตราการไหลของน้ำดี
สารไกลโคไซด์กลุ่ม phloracetophenone ชื่อ 4,6-dihydroxy-2-O-(beta-D-glucopyranosyl) acetophenone จากเหง้า มีฤทธิ์เพิ่มอัตราการไหลของน้ำดีในหนูทดลอง เมื่อให้สารทดสอบในขนาด 25 และ 50 mg/kg สามารถกระตุ้นการไหลของน้ำดีได้ 125.3 ± 2.6 และ 142.3 ± 3.0% ของกลุ่มควบคุมตามลำดับ การเพิ่มอัตราการไหลของน้ำดีมีผลต่อการย่อยอาหารประเภทไขมันได้ดีขึ้น และลดการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้
ปกป้องตับจากสารพิษ
สารสกัดเฮกเซนจากเหง้าในขนาด 500 mg/kg BW มีฤทธิ์ปกป้องตับจากการทำลายของสารพิษคาร์บอนเตตราคลอไรด์ในหนูทดลอง เมื่อให้สารสกัดก่อนได้รับสารพิษเป็นเวลา 24 ชั่วโมง โดยกลไกการต้านพิษเกิดจากการกระตุ้นการทำงานของ glutathione-S-transferase (GST) ซึ่งเป็นแอนติออกซิแดนท์เอนไซม์
ลดการอักเสบ
สารสกัดเฮกเซน สารสกัดเอทานอล และสารกลุ่ม diarylhepatanoids สองชนิดคือ (5-hydroxy-7-(4-hydroxyphenyl)-1-phenyl-(1E)-1-heptene และ 7-(3,4-dihydroxyphenyl)-5-hydroxy-1-phenyl-(1E)-1-heptene) ลดการสร้างสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ ได้แก่ TNF-α, interleukin-1β และ NF-κB ในเซลล์เม็ดเลือดขาวโมโนไซต์ ของมนุษย์ในหลอดทดลองได้ ซึ่งแสดงถึงฤทธิ์ต้านการอักเสบ
ยับยั้งเซลล์มะเร็ง
สาร 4,6-dihydroxy-2-O(beta-D-glucopyranosyl acetophenone) มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งปากมดลูก โดยมีค่า IC50 = 4.44 ± 0.85 ug/ml
องค์ประกอบทางเคมี
เหง้า
พบสารกลุ่ม diarylheptanoids หลายชนิด เช่น diarylcomosols I , II, III, (+)-hannokinol, platyphyllone, (3R)-1,7-bis(4-hydroxyphenyl)-(6E)-6-hepten-3-ol, 1-(3,4-dihydroxyphenyl)-7-(4-hydroxyphenyl)-(6E)-6-hepten-3-ol, 1-(3-hydroxyphenyl)-7-(3,4-dihydroxyphenyl)-3-methoxy-(6E)-6-heptene, (3R, 5R)-1-(3,4-dihydroxyphenyl)-7-phenyl-heptane-3,5-diol, (4E,6E)-1,7-diphenylhepta-4,6-dien-3-one, 7-(3,4 dihydroxyphenyl)-5-hydroxy-1-phenyl-(1E)-1-heptene, (5-hydroxy-7-(4-hydroxyphenyl)-1-phenyl-(1E)-1-heptene, (3S)-1-(4-methoxyphenyl)-7-phenyl-(6E)-6-hepten-3-ol, (3R)-1-(4-methoxyphenyl)-7-phenyl-(6E)-6-hepten-3-ol, 1-(4-hydroxyphenyl)-7-phenyl-(6E)-6-hepten-3-one, สารกลุ่ม acetophenone เช่น 4,6-dihydroxy-2-O-(β-D-glucopyranosyl) acetophenone สารกลุ่มโมโนเทอร์ปีนที่พบ ได้แก่ comosoxides A, comosoxides B
ส่วนเหนือดิน
สารฟลาโวนอยด์ไกลโคไซด์ เช่น curcucomosides A–D, kaempferol 3-O-alpha-L-arabinoside, quercetin 3-O-arabinopyranoside (guaijaverin), kaempferol 3-O-alpha-L-rhamnopyranosyl-(1→2)-O-alpha-L-arabinopyranoside สารไดแอริลเฮปทานอยด์ เช่น 1-(4-hydroxyphenyl)-7-phenyl-(6E)-6-hepten-3-one(8), 1-(4-hydroxyphenyl)-7-phenyl-(4E,6E)-4,6-heptadien-3-one, 1-(4-hydroxyphenyl)-7-phenyl-(6E)-6-hepten-3-ol, (3S)-1-(3,4-dihydroxyphenyl)-7-phenyl-(6E)-6-hepten-3-ol
อาการไม่พึงประสงค์
1. การใช้ติดต่อกันในระยะยาว หรือรับประทานเกินขนาด อาจทำให้มีอาการปวดท้องได้
2. ไม่ควรใช้สมุนไพรในผู้ป่วยที่มีปัญหาท่อน้ำดีอุดตัน เพราะเหง้าว่านหมาว้อมีฤทธิ์กระตุ้นทางเดินน้ำดี และอาจทำให้เกิดอาการเสียดท้องได้ในผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/