เกล็ดปลาหมอ
ชื่อสมุนไพร | เกล็ดปลาหมอ |
ชื่ออื่นๆ | เกล็ดลิ่นใหญ่ (นครราชสีมา), ลิ่นต้น, หญ้าสองปล้อง (ภาคกลาง), ลูกหนีบต้น (ปราจีนบุรี), หญ้าเกล็ดลิ่น (ภาคเหนือ ภาคใต้), หางลิ่น (สุราษฎร์ธานี), กาสามปีกเล็ก, เกล็ดปลาช่อน, เกล็ดลิ้น |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Phyllodium pulchellum (L.) Desv. |
ชื่อพ้อง | Hedysarum pulchellum L., Desmodium puchellum (L.) Benth., Meibonia puchella |
ชื่อวงศ์ | Leguminosae-Papilionoideae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่มขนาดกลาง สูง 0.5-2 เมตร ปลายกิ่งโค้งลง กิ่งและก้านใบมีขนนุ่มสีเทาถึงสีน้ำตาลอ่อนหนาแน่น เปลือกต้นสีน้ำตาลค่อนข้างเรียบ ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ มี 3 ใบย่อย ใบย่อยใบกลางจะมีขนาดใหญ่กว่าใบย่อยด้านข้าง รูปไข่ รูปรี หรือรูปขอบขนาน กว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 6-10 เซนติเมตร ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนมนหรือกลม ขอบเรียบ บางครั้งเป็นคลื่น แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวด้านบนมีขนสั้นนุ่ม บาง ๆ เมื่อแก่ผิวจะเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม หนาแน่น ใบย่อยด้านข้าง 2 ใบ รูปร่างคล้ายใบย่อยใบปลาย แต่ขนาดเล็กกว่า กว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 3-5 เซนติเมตร โคนเบี้ยว เส้นแขนงใบ ข้างละ 6-10 เส้น ก้านใบย่อย ยาว 2-3 มิลลิเมตร หูใบรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว 6-8 มิลลิเมตร มีขน หูใบย่อยเป็นขนแข็ง ยาวคล้ายหาง ยาว 2-3 มิลลิเมตร แกนช่อใบ ยาว 2-3 เซนติเมตร ก้านช่อใบยาว 5-10 มิลลิเมตร ช่อดอกออกเป็นกระจุก 3-5 ดอก เรียงอยู่บนแกนช่อดอก แบบช่อกระจะค่อนข้างยาว ออกที่ซอกใบ ดอกแต่ละกระจุกมีใบประดับคล้ายใบประกบหุ้มไว้ 2 ใบ ใบประดับมีรูปร่างคล้ายเกล็ดปลา รูปเกือบกลม กว้าง 0.6-1.2 เซนติเมตร ยาว 0.8-1.5 เซนติเมตร ปลายแหลมหรือเว้าตื้น โคนกลมหรือรูปหัวใจตื้น มีขนทั้งสองด้าน มีใบประดับอีกหนึ่งใบอยู่ปลายสุด ลดรูปเป็นเส้นใบประดับย่อย ยาว 0.5-1 มิลลิเมตร มีขน ใบประดับหุ้มดอกและติดอยู่จนติดผล ก้านดอกยาว 2-3 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยง ยาว 2-3 มิลลิเมตรโคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 4 แฉก แฉกบนและแฉกข้างรูปไข่ ปลายแหลม แฉกล่างรูปไข่ แคบยาวกว่าแฉกอื่น ๆ กลีบดอก 5 กลีบ สีขาวหรือเหลืองอ่อน รูปดอกถั่ว กลีบกลางรูปไข่กลับ กว้าง 2.5-4 มิลลิเมตร ยาว 5-6 มิลลิเมตร ปลายกลม มีก้านกลีบสั้น ๆ กลีบคู่ข้างรูปรีแคบ กว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร ยาว 5-6 มิลลิเมตร ปลายมน โคนมีติ่ง กลีบคู่ล่างยาวเท่ากับกลีบคู่ข้าง แต่กว้างกว่า รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี 1 ช่อง มี ออวุล 2-4 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียโค้ง โคนมีขน ผลเป็นฝักแบน ฝักรูปขอบขนาน กว้าง 4-5 มิลลิเมตร ยาว 7-8 มิลลิเมตร หยักเป็นข้อ 2-4 ข้อ ผิวมีขน มีลวดลายแบบร่างแหชัดเจน เมล็ดรูปรี กว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร ยาว 2-3 มิลลิเมตร พบตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ชายป่าดิบ ความสูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 1,300 เมตร ออกดอกและผลระหว่างเดือน กรกฎาคม- ธันวาคม
ลักษณะวิสัย
ใบ และใบประดับ
ดอก และฝัก
ใบประดับ และ ผล
ใบประดับ และ ผล
สรรพคุณ
ตำรายาพื้นบ้านอีสาน ราก ต้มน้ำดื่มแก้โรคตับพิการ ผสมกับรากดูกอึ่ง รากกาสามปีกใหญ่ รากโมกมัน และรากหางหมาจอก ต้มน้ำดื่ม แก้คุณไสย (มีอาการผอมแห้ง ใจสั่น บางเวลาเพ้อคลั่ง ร้องไห้) เป็นต้นไม้มงคล เมื่อเอาข้าวขึ้นยุ้งฉาง ส่วนยอดใช้กินสดเป็นอาหาร เป็นผักจิ้ม มีรสฝาดมัน ขมเล็กน้อย
ตำรายาไทย ราก รสจืดเฝื่อน ต้มน้ำดื่มบรรเทาอาการตับทำงานผิดปกติ รักษาอาการผู้ป่วยทางจิต อาการเพ้อ กล้ามเนื้อสั่นกระตุก แก้ปวดฟัน เลือดจับตัวเป็นลิ่ม อาการชักในเด็กทารก รากต้มกินแก้ปวดท้อง ปวดเส้น ปวดข้อ ปวดหลัง รากตำพอก แก้ปวด แก้เคล็ดบวม เปลือกราก รสจืดเฝื่อน แก้ปวด แก้เคล็ดบวม เปลือกต้น แก้ท้องร่วง รักษาโรคตา ต้มน้ำดื่มแก้อาการตกเลือด ถ้าใช้ในปริมาณมากเป็นพิษ ใบ รสจืด ต้มดื่มแก้ไข้ แก้ไข้ปัสสาวะพิการ แก้ไข้จับสั่น รักษาแผลพุพอง ดอก แก้อาเจียน ทั้งต้น ปรุงเป็นยาแก้ตับพิการ แก้พยาธิใบไม้ในตับ
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/