หนอนตายหยาก

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

หนอนตายหยาก

ชื่อสมุนไพร หนอนตายหยาก
ชื่ออื่นๆ กะเพียด หนอนตายหยากเล็ก สลอดเชียงคำ โป่งมดง่าม เครือสามสิบ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Stemona tuberosa Lour.
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์ Stemonaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้เถาเลื้อยล้มลุกเลื้อยพันต้นไม้อื่น อายุหลายปี เถากลมเรียวเล็ก สีเขียว ลำต้นใต้ดินมีรากออกเป็นพวงหลายสิบราก ลักษณะเป็นรูปกระสวย ออกเป็นกระจุก คล้ายรากกระชาย ยาวได้ถึง 10-30 เซนติเมตร ใบ เป็นใบเดี่ยวออกสลับกัน รูปใบคล้ายใบพลู หรือรูปหัวใจ กว้าง 4-6 เซนติเมตร ยาว 6-10 เซนติเมตร แผ่นใบมันเป็นคลื่นตามยาวของเส้นใบ มีปลายใบเรียวแหลม โคนใบเว้า ขอบใบเรียบ เส้นใบแตกออกจากโคนใบขนานกันไปทางด้านปลายใบ โคนกลีบดอกติดกัน ก้านใบยาว ดอก เป็นดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ กลีบดอก 4 กลีบ กลีบดอกด้านนอกสีเขียว อมเหลือง ด้านในสีแดง ปลายโค้งออกด้านนอก เกสรเพศผู้มี 4 อัน อับเรณูสีแดง เกสรเพศเมียมีรังไข่เหนือวงกลีบ ผล เป็นผลแห้งแตกได้ ฝักเล็ก รูปรี ปลายแหลม กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ลำต้นบนดินจะโทรมช่วงฤดูแล้ง พอฤดูฝนจะงอกใหม่พร้อมทั้งออกดอก พบขึ้นใต้ร่มเงาในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้งทั่วไป บนพื้นที่ใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึงระดับสูงประมาณ 1,200 เมตร ออกดอกราวเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม

 

ลักษณะวิสัย

 

 

ลำต้น

 

 

ใบ  และ ดอก

 

 

ใบ และ ดอก

 

 

ดอก

 

 

ดอก

 

 

ผล

 

 

ผล และ ยอดอ่อน

 

 

 

สรรพคุณ    
              ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี  ใช้ ราก (หัว) ต้มน้ำดื่ม ถ่ายพยาธิตัวจี๊ด นำรากผสมกับหญ้าหวายนาและชะอม ต้มน้ำดื่ม ถ่ายพยาธิตัวจี๊ด คั้นน้ำพอก แก้หิดเหา
              ตำรายาไทย ใช้  ราก (หัว) รสเมาเบื่อ ปรุงยารับประทาน แก้โรคผิวหนังผื่นคัน น้ำเหลืองเสีย แก้ไอและขับเสมหะ รมหัวริดสีดวงให้ฝ่อแห้งไป พอกทาแก้โรคผิวหนัง ฆ่าหิดเหา ฆ่าเชื้อพยาธิภายใน แก้มะเร็งตับ ตำผสมน้ำฆ่าแมลง ตำละเอียดแช่น้ำมันมะพร้าวใช้ฉีดฆ่าแมลง หนอนศัตรูพืช ทุบละเอียดแช่น้ำฟอกล้างผม ฆ่าเหา พอกแผลต่างๆ ฆ่าหนอน รากสดทุบใส่ปากไหปลาร้าฆ่าหนอน และใช้ทำลายหิดได้ นำรากมาโขลกบีบเอาน้ำหยอดแผลวัวควายซึ่งมีหนอนไช หนอนจะตายหมด ตำใส่น้ำข้าวทาแผลเน่าเปื่อยในวัวควาย


องค์ประกอบทางเคมี    
              รากพบแอลคาลอยด์ stemonine, tuberostemonine, stemonidine, isostemonidine สารอื่นที่พบ เช่น rotenoid compound, stemonacetal, stemonal, stemonone

 

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง  : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 3
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่