ผักกะเดียง

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ผักกะเดียง

ชื่อสมุนไพร ผักกะเดียง
ชื่ออื่นๆ ผักกะเดียง (อุบลราชธานี) บีปลาไหล ไส้เอี่ยน บีเอี่ยน (สกลนคร) สะเดาดิน ปอผี
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hydrolea zeylanica (L.) Vahl
ชื่อพ้อง Beloanthera oppositifolia Hassk., Hydrolea arayatensis Blanco, H. inermis Lour., H. javanica Blume, Nama zeylanica L., Steris aquatica Burm. f., S. javana L., S. javanica
ชื่อวงศ์ Hydrophyllaceae (Hydroleaceae)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
            ไม้ล้มลุก ทอดเลื้อยตามพื้นดิน ชูยอดตั้งขึ้น ลำต้นกลมเกลี้ยง แข็ง สูงประมาณ 10-100 เซนติเมตร มีรากออกตามข้อ ลำต้นเรียบหรือมีขนนุ่ม แตกแขนงมาก ใบเดี่ยว เรียงสลับเวียน รูปใบหอกถึงรูปรี โคนใบแหลม ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ กว้าง 1-2.5 เซนติเมตร ยาว 1.5-5 เซนติเมตร ไม่มีหูใบ ดอกช่อ แบบช่อกระจะแยกแขนง หรือดอกเดี่ยว ช่อดอกยาวได้ถึง 5 ซม. ออกที่ซอกใบและปลายยอด มีดอกย่อยสมบูรณ์เพศจำนวนมาก ดอกย่อยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-1.5 ซม. ก้านดอกย่อยยาว 1-3 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงสีเขียวรูปหอก มีขนนุ่ม วงกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก ขนาด 4.5-8 มิลลิเมตร เรียงสลับกับกลีบดอก ปลายกลีบแหลมด้านนอกมีขนปกคลุม กลีบดอก 5 กลีบรูปไข่ กลีบดอกสีน้ำเงินอมม่วง หรือสีม่วงอมเขียว กลางดอกสีขาว ขนาด 3-5 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้ 5 อัน เรียงสลับกับกลีบดอก ก้านชูเกสรเพศเมีย 2 อัน อับเรณูสีแดงเข้ม  ผลแห้งแตก ทรงรี กว้าง 2.5 มม. ยาว 5 มม.  ห่อด้วยกลีบรองดอก มีกลีบเลี้ยงติดคงทน เมล็ดสีดำ รูปไข่แกมขอบขนาน ขนาด 0.3-0.4 มิลลิเมตร มีจำนวนมาก ชอบขึ้นบนดินชื้นและมีน้ำขัง ตามนาข้าว หรือแผ่คลุมผิวน้ำ พบตั้งแต่ระดับน้ำทะเล ไปจนถึง 1,000 เมตร ออกดอกช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ติดผลราวเดือนมกราคมถึงเมษายน ยอดอ่อนรับประทานได้เป็นผัก มีรสขมอ่อนๆ

 

ลักษณะวิสัย

 

 

ลำต้น ดอก และ ใบ

 

 

ดอก และ ใบ

 

 

ดอก

 

สรรพคุณ    
              ยาพื้นบ้านอีสาน     ใช้ ทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม แก้ตาฟาง

              ตำรายาไทย            มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ ตับ แก้เบาหวาน แก้ไข้มาลาเรีย ใช้ต้นสดต้ม 1 กำมือ ต้มน้ำดื่ม

                                             แต่คนคลอดบุตรใหม่ ไม่ควรรับประทาน  เพราะจะทำให้น้ำนมขม

              ประเทศอินเดีย        ใช้ ใบ เป็นยาพอก สำหรับฆ่าเชื้อ และสมานแผลพุพอง แผลอักเสบ

              ประเทศกัมพูชา       ใช้ ใบ รักษาอาการเกี่ยวกับลำไส้ผิดปกติ และใช้สมานแผล ฆ่าเชื้อ
   

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 0
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่