สนุ่น
ชื่อสมุนไพร | สนุ่น |
ชื่ออื่นๆ | ตะไคร้บก สนุ่นบก ไค้นุ่น (เหนือ) ไก๋นุ่น (อีสาน) สนุ่นน้ำ (นครราชสีมา) ไคร้ใหญ่ (ยะลา) คล้าย (ปัตตานี) ตะหนุ่น |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Salix tetrasperma Roxb. |
ชื่อพ้อง | Pleiarina tetrasperma |
ชื่อวงศ์ | Salicaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้นขนาดกลาง เนื้ออ่อน ผลัดใบระยะสั้นก่อนออกดอก สูง 6-15 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม โปร่ง ลำต้นตั้งตรง กิ่งก้านชูตั้งขึ้น ปลายลู่ลงเล็กน้อย แต่จะไม่ห้อยลงเป็นกิ่งยาวๆ เปลือกต้นหนาสีเทาเข้ม มีรอยแตกลึกตามยาว ยอดอ่อนมีขนสีเงินหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปหอกเรียว ปลายแหลม โคนรูปลิ่มหรือเบี้ยว ขอบใบมีซี่เล็กๆ ขนาดกว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 5-10 เซนติเมตร ใบแก่หนาเกลี้ยงหรือมีขนหนาแน่น หลังใบสีเขียวเข้ม ท้องใบสีขาวนวล เส้นใบข้าง 12-24 คู่ ก้านใบเรียวเล็ก สีออกแดง ยาว 1-3 เซนติเมตร หูใบยาวถึง 4 มิลลิเมตร อาจเห็นไม่ชัดเจนหรือไมมี ดอกออกเป็นช่อเล็กๆ สีขาวหรือเหลืองอ่อน ช่อดอกห้อยลงแบบช่อหางกระรอก ทรงกระบอก ออกที่ปลายของกิ่งข้างสั้นๆ หรือที่ซอกใบ ปลายช่อมีใบอ่อน ช่อยาว 5-15 เซนติเมตร ดอกแยกเพศแยกต้น ดอกย่อยมีก้านดอกเรียวเล็ก มีกาบรองดอกรูปไข่ ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ดอกเพศผู้มีเกสร 4-10 อัน ยาว 4-6 มิลลิเมตร ดอกเพศเมียมีต่อมน้ำหวาน 1 ต่อมที่ฐาน ก้านเกสรสั้น ปลายแยกเป็น 2 พู รังไข่มีขนหนาแน่น มีก้านชูชัดเจน ผลแห้งแตกได้ ขนาด 0.4 เซนติเมตร สีน้ำตาลอ่อนหรือออกเทา แตกได้เป็น 2 พู มีเมล็ดเล็กๆ 4-6 เมล็ด ปลายด้านหนึ่งมีแผงขนสีขาวเป็นปุย ซึ่งจะปลิวตามลมช่วยในการกระจายพันธุ์ พบทั่วไปตามที่ลุ่มชื้น ริมธารน้ำ แม่น้ำลำคลอง ภูเขาที่โล่ง ป่าชายน้ำ ทั้งป่าผลัดใบและไม่ผลัดใบ พบที่ระดับน้ำทะเลจนถึง 1,900 เมตร ออกดอกราวเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม ติดผลราวเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์
เปลือกต้น
ช่อดอก
ช่อดอก
ใบ และ ผล
ผล
ผลแก่
ผล
สรรพคุณ
ตำรายาไทย ใบ รสจืดเย็นเมา น้ำคั้นจากใบตำพอก ทา หรือพ่น แก้เริม งูสวัด แก้แผลเปื่อย บำรุงหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นแรง ขับชีพจร แก้ตัวร้อน แก้หวัดคัดจมูก ดับพิษร้อน แก้ตับพิการ แก้ริดสีดวงจมูก เปลือกต้น รสเย็นเมา แก้ไข้ แก้ตัวร้อน บำรุงหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นแรง แก้ริดสีดวงจมูก ต้มอาบและรดศีรษะแก้เด็กตัวร้อน แก้หวัดคัดจมูก ราก รสขมเย็น ต้มดื่ม ทำให้รู้รสอาหาร ช่วยเจริญอาหาร ดับพิษร้อน แก้ตับพิการ
องค์ประกอบทางเคมี
เปลือกต้น พบสารไกลโคไซด์ salicin มีฤทธิ์ลดไข้