ตานกกด

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ตานกกด

ชื่อสมุนไพร ตานกกด
ชื่ออื่นๆ กะโรงแดง คำรอก จันนกกด ช้างน้าว (ราชบุรี โคราช) ตานกกดน้อย ประดงเลือด (สุโขทัย) หมาตายทากลาก หำฟาน (เชียงใหม่) อุ่นขี้ไก่ (ลำปาง) ตานนกกรดตัวเมีย (อีสาน) จับนกกรด (โคราช) คีรีนกกรด (มหาสารคาม)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ellipanthus tomentosus Kurz
ชื่อพ้อง Connarus urdanetensis Elmer, Ellipanthus burebidensis Elmer, E. cinereus Pierre, E. curtisii King , E. gibbosus King, E. griffithii Hook.f., E. helferi Kurz, E. longifolius Merr., E. luzoniensis S.Vidal, E. mindanaensis Merr., E. neglectus Gamble, E. sarawakensis Schellenb., E. subrufus Pierre, E. urdanetensis (Elmer) Merr., E. vidalii
ชื่อวงศ์ Connaraceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้น สูงได้ถึง 12 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลแดง แตกเป็นร่องลึกตามความยาวของลำต้น กิ่งก้านอ่อนมีขนละเอียดสีน้ำตาล ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปรีถึงรูปใบหอก กว้าง 3.5-8 ซม. ยาว 8-18 ซม. ปลายใบมนถึงเรียวแหลม โคนสอบถึงกลม ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวด้านบนมีขนตามเส้นกลางใบ ผิวด้านล่างมีขนสีน้ำตาลแดงสั้นหนานุ่มทั่วไป มีหนาแน่นตามเส้นใบ เส้นแขนงใบ ข้างละ 6-10 เส้น ปลายจรดกันใกล้ขอบใบ ก้านใบยาว 0.8-1.5 ซม. ปลายก้านใบมีข้อ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ซอกใบ ยาวประมาณ 3 ซม.ก้านช่อดอกสั้น มีขนหนาแน่น ดอกส่วนมากสมบูรณ์เพศ กลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียวอ่อน รูปไข่ปลายทู่หรือแหลม แยกกัน กว้างประมาณ 1 มม. ยาวประมาณ 2 มม. ด้านนอกมีขนยาวห่าง ด้านในเกลี้ยง กลีบดอก 5 กลีบ สีขาวหรือสีครีม แยกกัน กว้างประมาณ 1 มม. ยาวประมาณ 4 มม. ด้านนอกมีขนยาวห่าง ด้านในมีขนสั้นหนานุ่ม เกสรเพศผู้มี 10 อัน เป็นหมัน 5 อัน เกสรเพศเมีย มีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่เบี้ยว มีขนหนาแน่น ยอดเกสรเพศเมีย ปลายแยกเป็น 2 แฉก ใบประดับรูปสามเหลี่ยม ผลแห้งแตกแนวเดียว ยาว 2-4 ซม. ผิวผลมีขนละเอียด สีน้ำตาลแดงหนาแน่น มีก้านผลสั้น ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีน้ำตาล รูปไข่ มีเมล็ด 1 เมล็ด สีดำเป็นมัน รูปไข่หรือรี ยาว 1-2 ซม. มีเยื่อหุ้มเมล็ด สีส้มแดง คล้ายกับตาของนกกรด พบตามป่าผลัดใบ ป่าเต็งรัง ชายป่าดิบ ป่าพรุ ความสูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 800 เมตร ออกดอกระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ติดผลระหว่างเดือนมีนาคม- มิถุนายน

 

ลักษณะวิสัย

 

 

ใบ และ ผล

 

 

ลำต้น

 

 

เปลือกต้น

 

 

ดอก

 

 

ผลอ่อน และ ใบ

 

 

ผล และ ใบ

 

 

ผล

 

 

ผล และ เมล็ด

 

 

ผล และ เมล็ด

 

 

เมล็ด

 

 

เมล็ดอ่อน

 

 

เมล็ดแก่


สรรพคุณ
               ตำรายาไทย เนื้อไม้ รสฝาดขมมัน ถ่ายพิษเสมหะ และโลหิต แก้กระษัย ปวดเมื่อย ถ่ายพิษตับ แก้ตับทรุด ต้มดื่มแก้ปวดท้อง คลายอาการเกร็งของกล้ามเนื้อท้อง แก้โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ ขับปัสสาวะ รักษาอาการไตพิการ เป็นยาบำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย กิ่งและลำต้น ช่วยเรียกน้ำย่อย ช่วยเจริญอาหาร ป้องกันอาการท้องอืด รักษาอาการบีบเกร็งของช่องท้อง กิ่งก้านและต้น ผสมกับแก่นพลับพลา ต้นกำแพงเจ็ดชั้น ต้นสบู่ขาว ต้นพลองเหมือด และแก่นจำปา ต้มน้ำดื่ม แก้หอบหืด เปลือกและเนื้อไม้ ต้มสกัด ใช้รักษาการทำงานที่ผิดปกติของไต ต้มน้ำดื่มแก้ไตพิการ หรือโรคทางเดินปัสสาวะ  รากตานกกด ผสมกับรากตาไก้ รากตากวง ต้มกินเป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงเลือด  รากตานกกด ต้มกินต่างน้ำเป็นยาบำรุงหลังคลอด  รากตานกกด ผสมกับนมวัวทั้งห้า ข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้ อ้อยดำ แก่นจวง อย่างละเท่าๆกัน ต้มกินรักษาประดงที่มีอาการปวดวิ่งตามตัว
              ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ เนื้อไม้ ต้มน้ำดื่ม แก้ปวดเมื่อย เข้ายากับตาไก้ และขันทองพยาบาท ต้มน้ำดื่ม แก้ท้องผูก

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 22
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่