กระเจียวขาว

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

กระเจียวขาว

ชื่อสมุนไพร กระเจียวขาว
ชื่ออื่นๆ กระเจียวขาวปากเหลือง, กระเจียวป่า, กระเจียวบัว, มหาอุดม
ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma cochinchinensis Gagnep
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์ Zingiberaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             พืชลงหัวล้มลุก อายุหลายปี ส่วนเหนือดินสูง สูง 40-60 เซนติเมตร เหง้าอวบน้ำ หัวรูปไข่ ขนาด 2-3 x 1-2 เซนติเมตร มีเหง้าที่สั้นมาก เนื้อในสีขาว หรือเหลืองอ่อน ใบเดี่ยว เรียงสลับ ออกเป็นกอ 1-5 ใบ ใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่  ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบมนหรือค่อยๆสอบลงสู่ก้านใบ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนปกคลุมหนาแน่น กว้าง 7.5-12 เซนติเมตร ยาว 12-35 เซนติเมตร กาบใบมีขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นหลอด ช่อดอกเชิงลด ก้านช่อดอกตั้งตรง เกิดจากเหง้าใต้ดิน ลักษณะของดอกมักจะออกติดกับพื้นดิน หรือมีก้านดอกสั้นมาก ก้านช่อดอก ยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร มักออกดอกก่อนเกิดใบใหม่และดอกจะเหี่ยวแห้งก่อนการสร้างใบ หรือยังคงปรากฏอยู่ในระยะเวลาอันสั้นหลังการสร้างใบ แต่ละช่อมีใบประดับรองรับ ใบประดับมีสีขาวอมเหลืองจนถึงสีชมพูอ่อน เชื่อมติดกัน และเรียงซ้อนกันหลายชั้น รูปสามเหลี่ยม หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายแหลมเกือบมน กว้าง 1.5-2 เซนติเมตร ยาว 3-4 เซนติเมตร มีเส้นสีชมพูจาง ตามยาว ขอบทั้งสองข้างม้วนเข้าด้านใน  กลีบดอกสีขาว มีกลิ่นหอม กลีบปากมีแถบสีเหลืองกว้างอยู่ตามแนวยาวของเส้นกลางแผ่นกลีบปาก ปลายแยกเป็น 2 แฉก ช่อดอกกว้าง 3-5.5 เซนติเมตร ยาว 6-8.5 เซนติเมตร หลอดกลีบดอก ปลายแผ่เป็นแฉก รูปขอบขนาน ปลายมีขนครุย  กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 3 แฉก สั้น ๆ ปลายมีขนครุย เกสรเพศผู้รูปแถบ โคนอับเรณูมีเดือย (spur) 1 คู่ แกนอับเรณูสั้น ปลายมน อับเรณูมีเดือยคล้ายเส้นด้าย ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ปลายโค้งเข้าด้านใน ด้านข้างอับเรณูไม่มีรยางค์ เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปรีแผ่แบนคล้ายกลีบดอก ไม่เชื่อมติดกับกลีบปาก รังไข่ค่อนข้างกลม อยู่ใต้วงกลีบ มี 3 ห้อง พลาเซนตารอบแกนร่วม มีขนยาวปกคลุม ก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง ยืดยาวเหนืออับเรณู และถูกหุ้มด้วยเยื่อเหนืออับเรณู ผลแบบแคปซูล รูปไข่หรือค่อนข้างกลม เมล็ดขนาดเล็กสีดำ เยื่อหุ้มสีขาว พบตามที่ค่อนข้างชื้น ในป่าผลัดใบ หรือป่าดิบแล้ง ตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึงที่สูงประมาณ 1,200 เมตร ออกดอกระหว่างเดือนกรกฎาคม- กันยายน

 

ลักษณะวิสัย

 

 

ดอก และ ใบ

 

 

ใบ และ ดอก

 

 

ดอก และ ใบอ่อน

 

 

ดอก

 

 

ดอก


สรรพคุณ    
              ชาวบ้านในชนบท ใช้ ช่อดอกอ่อน รับประทานเป็นผัก เหง้า ขับลม รักษาลำไส้อักเสบ  มีดอกสวยงาม นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 4
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่