ไพลดำ

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ไพลดำ

ชื่อสมุนไพร ไพลดำ
ชื่ออื่นๆ ไพลม่วง (กรุงเทพมหานคร), ปูเลยดำ (ภาคเหนือ), ดากเงาะ (ปัตตานี), ว่านกระทือดำ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber ottensii Valeton
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์ Zingiberaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้ล้มลุก ลำต้นใต้ดิน สูงได้ถึง 5 เมตร มีเหง้าอยู่ใต้ดิน มีอายุหลายปี เนื้อในเป็นสีม่วง หรือสีม่วงอมน้ำตาล มีกลิ่นฉุนร้อนคล้ายไพล ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ แผ่นใบหนา รูปขอบขนาน ปลายใบเรียว โคนใบมน ขอบใบเรียบ กว้าง 6-8 เซนติเมตร ยาว 26-30 เซนติเมตร เส้นกลางใบเป็นร่องสีเขียวอ่อน ด้านล่างและเส้นกลางใบมีขน ก้านใบเป็นกาบหุ้มลำต้น มีสีม่วงคล้ำ กาบใบซ้อนกันแน่น  ไม่มีขนหรือมีประปราย   ลิ้นใบยาวที่ปลายกาบใบ รูปไข่ ปลายมน  ดอกออกเป็นช่อ จากโคนต้นแทงออกมาจากเหง้าใต้ดิน ก้านช่อดอกยาวประมาณ 14 เซนติเมตร ช่อดอกยาวประมาณ 9 เซนติเมตร ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอกถึงเกือบกลม  กลีบดอกโคนเชื่อมติดกัน สีเหลืองอ่อน มีประสีม่วงแดงอ่อนๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ บาง โคนดอกเชื่อมติดกัน มีใบประดับสีเขียวปนแดงวางเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ อย่างเป็นระเบียบคล้ายเกล็ดปลา  ใบประดับเมื่อยังอ่อนมีสีแดงอมเขียวแล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูหรือแดงเข้ม กลีบเลี้ยง  เชื่อมติดกันเป็นหลอดสีใส เกสรเพศผู้  ส่วนที่เป็นกลีบมี  3  หยัก หยักข้างมี  2  หยักสั้น  รูปไข่  ปลายมน  สีเหลืองอ่อน  หยักกลางหรือกลีบปากใหญ่    รูปกลมแกมขอบขนาน   ปลายแยก  2  หยักตื้น    พื้นสีเหลืองแกมน้ำตาลอ่อน ประสีน้ำตาลแดงแกมชมพูอ่อน เกสรเพศผู้ปลายเป็นจงอยยาวโค้ง สีเหลืองส้ม เกสรเพศเมีย ก้านเกสรยาว สีขาว ยอดเกสรรูปคล้ายกรวย สีขาว รอบ ๆ ปากมีขน รังไข่สีขาว ผล เป็นผลแห้งแตกได้ รูปทรงกระบอก สีแดง  มีถิ่นกำเนิดแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบตามป่าเขตร้อนชื้น ออกดอกราวเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ติดผลราวเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ไพลดำนี้มีความเชื่อว่าเป็นว่านทางคงกระพันชาตรี

 

ลักษณะวิสัย

 

ใบ

 

ดอก

 

ดอก

 

ใบประดับอ่อน (สีน้ำตาล) และ ใบประดับแก่ (สีแดง)

 

ใบประดับแก่

 

ใบประดับแก่

 

เหง้า


สรรพคุณ    
              ตำรายาไทย เหง้า ฝนทาแก้เคล็ดขัดยอก ฟกบวม แก้เหน็บชา แก้เมื่อยขบ สมานแผล ขับประจำเดือน แก้บิด สมานลำไส้ น้ำมันจากเหง้า ทาถูนวดแก้เหน็บชา แก้เส้นสายตามร่างกายตึง แก้เมื่อยขบ เหง้าสด ตำคั้นเอาน้ำผสมกับเกลือสะตุ 1 ช้อนโต๊ะ กินเป็นยาระบายอ่อนๆ แก้บิด ขับลม ขับประจำเดือนสตรี สมานลำไส้ เหง้าสด  ต้มกับน้ำใส่เกลือเล็กน้อย ดื่มก่อนอาหารเช้า-เย็น ใช้รักษาโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ หรือนำมาบดเป็นผง ผสมกับน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นยาลูกกลอน เก็บไว้รับประทานเช้า-เย็น วันละ 2-3 เม็ด เป็นยาช่วยเจริญอาหาร บำรุงกำลัง เป็นยาอายุวัฒนะ แก้ธาตุพิการ ใบ รสขื่นเอียน แก้ครั่นเนื้อครั่นตัว แก้ปวดเมื่อย ดอก รสขื่น แก้ช้ำใน กระจายเลือดที่เป็นก้อนลิ่ม ราก รสขื่นเอียน แก้เลือดกำเดาออกทางปากทางจมูก แก้อาเจียนเป็นเลือด

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 6
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่