สิงโตดำ

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

สิงโตดำ

ชื่อสมุนไพร สิงโตดำ
ชื่ออื่นๆ ไม้เท้าฤาษี (กลาง), บุกรอ (ตราด), สิงโตดำ (กรุงเทพมหานคร), เท้ายายม่อม, ว่านพญาหอกหลอก
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tacca leontopetaloides (L.) Kuntze
ชื่อพ้อง Chaitaea tacca Sol. ex Seem., C. tacca Solander ex Parkinson, Leontice leontopetaloides L., Tacca abyssinica Hochst. ex Baker, T. artocarpifolia Seem., T. brownii Seem., T. dubia Schult. & Schult.f., T. gaogao Blanco, T. guineensis G. Don ex Loudon, T. hawaiiensis H.Limpr. , T. involucrata Schumach. & Thon, T. madagascariensis Bojer, T. madagascariensis (H.Limpr.) H.Limpr., T. oceanica Seem., T. phallifera Schult. & Schult.f., T. pinnatifida J.R.Forst. & G.Forst. , T. pinnatifolia Gaertn., T. quanzensis Welw., T. umbrarum Jum. & H.Perrier, T. viridis
ชื่อวงศ์ Taccaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีหัวใต้ดินสะสมอาหาร รูปร่างกลมแบน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-4 นิ้ว ผิวด้านนอกบางสีน้ำตาล เนื้อในสีขาวใส ส่วนเหนือดินสูงได้ถึง 1.5 เมตร ใบเดี่ยวเรียงสลับ เวียนออกเป็นแนวรัศมี ใบมีขนาดใหญ่และเว้าลึก รูปฝ่ามือ ปลายแยกเป็น 3 แฉก แต่ละแฉกขอบเว้าลึก กว้างได้ถึง 70 เซนติเมตร ยาวได้ถึง 120 เซนติเมตร ก้านใบรวมทั้งกาบใบ ยาว 20-170 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ก้านใบสีดำแกมเขียว ดอกช่อซี่ร่ม แทงช่อสูงออกมาจากหัวใต้ดิน ดอกออกที่ปลายยอด ก้านดอกยาวสีม่วงอมเขียวมีลาย ช่อดอกมี 1-2 ช่อ ยาวได้ถึง 170 ซม. แต่ละช่อมี 20-40 ดอก กลีบรวมสีเขียวแกมเหลือง หรือเขียวแกมม่วงเข้ม โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายกลีบแหลม เชื่อมติดกันเป็น 6 กลีบ เรียง 2 วง วงนอกรูปรีหรือรูปใบหอก ยาว 0.4-0.7 ซม. วงในรูปไข่หรือรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 0.5-0.8 ซม. มีชั้นใบประดับรองรับ ใบประดับสีดำ หรือสีม่วงอมน้ำตาลเป็นเส้นยาว 10-25 ซม. จำนวน 20-40 เส้น แผ่นกลีบประดับมี 4-12 อัน เรียง 2 วง กลีบขนาดเกือบเท่าๆ กัน รูปไข่ รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก สีเขียวเข้ม ยาว 2.5-10 ซม. เกสรเพศผู้ 6 อัน ปลายแผ่เป็นแผ่น ก้านเกสรเพศเมียสั้น ปลายเกสรแยกเป็น 3 แฉก ผลสดรูปทรงกลมปลายแหลมเรียว สีเขียว มีเนื้อ ผลห้อยลง เส้นผ่านศูนย์กลางยาว 1.5-2.5 ซม. มีเมล็ดจำนวนมากขนาด 5-8 x 4-6  มิลลิเมตร ที่ผิวมีลาย พบขึ้นใต้ร่มเงาในป่าดิบแล้งระดับต่ำ ป่าผลัดใบ  ดินเป็นดินทราย และตามป่าชายหาด ออกดอกราวเดือนตุลาคมถึงมกราคม

 

ลักษณะวิสัย

 

 

ลำต้น

 

 

ใบ

 

 

ดอก

 

 

ผล

 

 

หัว และ แป้งที่ได้จากหัว

 

 

หัวใต้ดิน


สรรพคุณ    
              ยาพื้นบ้านอีสาน ใช้ ราก แก้ไข้ ขับเสมหะ ผสมสมุนไพรอื่น ต้มน้ำดื่มเป็นยาเย็น หรือเผาให้ร้อน เอาผ้าห่อ นั่งทับแก้ไส้เลื่อน หัว นำมาทำเป็นแป้งเรียกว่า “แป้งท้าวยายม่อม” ใช้ประกอบอาหาร มีสรรพคุณช่วยเจริญอาหาร บำรุงร่างกาย แก้อ่อนเพลีย สมานแผลในกระเพาะอาหาร ผงแป้งใช้ภายนอกโรยแผลเพื่อห้ามเลือด หรือโรยในถุงเท้าเพื่อป้องกันเชื้อรา  เหง้า ต้มน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย หัวหรือรากใช้ภายนอก นำมาฝนกับน้ำมะนาว ทาแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย พิษผึ้ง พิษแมงกะพรุนไฟ ผดผื่นแพ้ต่างๆ ดอกและยอดอ่อน ใช้ลวกจิ้มน้ำพริกได้
            ชาวฮาวาย ใช้ หัว ผสมกับน้ำ และดินเคาลินสีแดง (red clay) กินรักษาอาการท้องเสียและบิด ใช้หยุดเลือดในกระเพาะและลำไส้ และใช้ใส่แผลห้ามเลือด

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง  : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 0
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่