ชะรักป่า

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ชะรักป่า

ชื่อสมุนไพร ชะรักป่า
ชื่ออื่นๆ มักแค้งข่า (ปราจีนบุรี) พรายสะเมา (อุบลราชธานี) แข้งม้า หมักก้านต่อ ฮังตอ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Clerodendrum serratum (L.) Moon.
ชื่อพ้อง Rotheca serrata (L.) Steane & Mabb., Clerodendrum bracteosum Kostel., C. cuneatum Turcz. , C. divaricatum Jack, C. grandifolium Salisb., C. herbaceum Roxb. ex Schauer, C. macrophyllum Sims, C. trifoliatum Steud., Cyclonema serratum (L.) Hochst., Ovieda bracteosa (Kostel.) Baill. , Rotheca bicolor Raf., R. ternifolia Raf., Volkameria serrata
ชื่อวงศ์ Lamiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้พุ่ม สูง 1-3 เมตร กิ่งอ่อน สันเป็นเหลี่ยม มีขนสีน้ำตาล ใบเป็นใบเดี่ยว ออกรอบข้อ 3-4 ใบ ใบยาว 7-21 เซนติเมตร กว้าง 1.5-8 เซนติเมตร รูปขอบขนานหรือรูปหอกแกมรูปรี ฐานใบสอบเรียว ปลายใบแหลมหรือมน ขอบใบหยักซี่ฟัน ผิวใบด้านบนมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาล หนาแน่น ผิวใบด้านล่างเกือบเกลี้ยง มันวาว เนื้อใบคล้ายกระดาษ เส้นใบมี 6-10 คู่ เด่นชัดทั้งสองด้านของแผ่นใบ ก้านใบยาว 1.5-3 ซม. ช่อดอก แบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายยอด ช่อตั้ง รูปทรงกระบอก สีขาว ยาว 17-25 เซนติเมตร ใบประดับรูปไข่กลับ กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ สีเขียวแกมแดงหรือสีเขียว เชื่อมกันเป็นรูปถ้วย มีขนสีน้ำตาล ยาว 5-7 มม.  หลอดกลีบเลี้ยง ยาว 4-7 มม. แฉกกลีบเลี้ยง รูปสามเหลี่ยม ยาว 0.5-0.7 มม. กว้าง 1-2 มม. ปลายกลีบแหลม กลีบดอก มี 5 กลีบ สีขาว หรือสีขาวแกมสีม่วง โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด หลอดกลีบดอก ยาว 7-10 มม. แฉกกลีบดอก รูปขอบขนาน ยาว 6-12 มม. กว้าง 4-7 มม. ปลายกลีบมน ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบบนมี 4 กลีบ มีขนาดต่างกัน กลีบล่างมี 1 กลีบ ยาวกว่ากลีบบนมาก และมองดูมีขนาดใหญ่กว่ากลีบอื่น เกสรเพศผู้มี 4 อัน สั้น 2 อัน ยาว 2 อัน เรียงตรงข้ามอับเรณู รูปขอบขนาน ผิวขรุขระ มีขนสั้นนุ่ม ที่ฐานก้านเกสรหนาแน่น เกสรเพศเมีย มีก้านชู ยาว 3-4 ซม. ปลายแยกเป็น 2 แฉก แต่ละแฉกยาวไม่เท่ากัน มีรังไข่เหนือวงกลีบ ผล แบบเมล็ดเดียวแข็ง ผิวมันวาว พบตามป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณที่เปิดและค่อนข้างชื้น บริเวณทุ่งหญ้าและที่โล่ง  ที่ความสูง 500-1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล ออกดอกตลอดปี

 

ลักษณะวิสัย

 

 

ใบ และ ช่อดอก

 

 

ดอก และ ผล

 

 

ดอก และ ผล


สรรพคุณ    
               ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีใช้ ราก ต้มน้ำดื่ม ช่วยเจริญอาหาร บำรุงน้ำนม บำรุงเลือด หรือเข้ายาข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้ ต้มน้ำดื่มแก้หนองใน
               ตำรายาไทย ใบแห้ง บดเป็นผง กินแก้ริดสีดวงทวาร รากและต้น ฝนกับน้ำปูนใสให้ข้น ใช้เกลื่อนหัวริดสีดวงทวาร ผล แก้ไอ แก้โรคเยื่อจักษุอักเสบ  ใบ, ราก, ต้น รักษาริดสีดวงทวาร
               ชาวเขา ใช้ ใบ อังไฟแล้วขยี้ใส่แผลฝีหนอง ที่เป็นเรื้อรัง หรือรอยแผล จากแมลงกัดและปากนกกระจอก ทั้งต้น ต้มให้หญิงที่เพิ่งคลอดลูกดื่ม, ทั้งต้น ต้มอาบแก้ปวดเมื่อย ใบ นำมาลนไฟแล้วนำมาประคบบริเวณหน้าอกแก้อาการเจ็บหน้าอก หรือประคบหัว แก้ปวดศีรษะ

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 3
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่