กระบือเจ็ดตัว
ชื่อสมุนไพร | กระบือเจ็ดตัว |
ชื่ออื่นๆ | กระบือเจ็ดตัว (ภาคกลาง), บัว, บัวลา, กระทู้, กระทู้เจ็ดแบก (ภาคเหนือ), ต้นลิ้นควาย, ตาตุ่มไก่, ตาตุ่มนก, กำลังกระบือ, ลิ้นกระบือ, ลิ้นกระบือขาว, ใบท้องแดง |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Excoecaria cochinchinensis Lour. |
ชื่อพ้อง | Antidesma bicolor Hassk., Excoecaria bicolor (Hassk.) Zoll. ex Hassk., E. orientalis Pax & K.Hoffm. , E. quadrangularis Müll.Arg., Sapium cochinchinense |
ชื่อวงศ์ | Euphorbiaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่มขนาดย่อม สูงประมาณ 0.5-1.5 เมตร ตามกิ่งก้านมีน้ำยางสีขาวข้นเหมือนน้ำนม แตกกิ่งก้านมาก มีรูอากาศตามผิวกิ่ง ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบกิ่งหรือออกตรงข้าม รูปใบหอกหรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้าง 2-4.5 เซนติเมตร ยาว 4-12 เซนติเมตร ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบสอบ ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยตื้นๆ หลังใบเรียบ สีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบเรียบสีม่วงแดงเข้ม เส้นแขนงใบ ข้างละ 7-12 เส้น ก้านใบยาว 0.5-1.5 เซนติเมตร หูใบรูปไข่ ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ดอกช่อกระจะออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกขนาดเล็กสีเหลืองอมเขียว ดอกแยกเพศอยู่ร่วมต้นกัน ออกตามซอกใบหรือปลายยอด ช่อดอกเพศเมียอยู่ส่วนล่าง ส่วนปลายด้านบนเป็นดอกเพศผู้ ช่อดอกตัวผู้เป็นแบบช่อกระจะ ยาว 1-2 เซนติเมตร มีดอกย่อยจำนวนมาก โคนก้านดอกมีใบประดับเล็กๆเรียงซ้อนกัน รูปไข่ กว้างและยาว 1.7 มิลลิเมตร ก้านดอกยาว 1.5 มิลลิเมตร มีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ รูปหอก ขนาดยาว 0.6-1 มิลลิเมตร กว้าง 0.3-0.4 มิลลิเมตร ส่วนปลายจักฟันเลื่อยถี่ เกสรเพศผู้เล็กมากมี 3 อัน อับเรณูรูปกลม สั้นกว่าก้านชูอับเรณูเล็กน้อย ช่อดอกตัวเมียสั้นกว่าดอกเพศผู้ มีดอก 2-3 ดอก ขนาด 1.2-1.5 ถึง 1-1.3 มิลลิเมตร ก้านดอกแข็ง ยาว 2-5 มิลลิเมตร โคนก้านดอกมีใบประดับเล็กๆ และมีต่อมเล็กๆสีเหลือง กลีบเลี้ยงเล็กมี 3 กลีบ รูปไข่ ติดกันที่ฐานเล็กน้อย กว้าง 1.2 มิลลิเมตร ยาว 1.8 มิลลิเมตร รังไข่เล็กสีเขียวอมชมพู กลม เกลี้ยง มี 3 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียมี 3 อัน ยาว 2.2 มิลลิเมตร ผลแก่แตก ขนาดเล็ก รูปร่างค่อนข้างกลม กว้าง 8 มิลลิเมตร ฐานตัด ปลายเว้าเข้า ผลมี 3 พู เมื่อแก่แตกเป็น 3 ส่วน เมล็ดรูปเกือบกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 มิลลิเมตร นิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ออกดอกตลอดปี
ลักษณะวิสัย
ใบ
ดอก
สรรพคุณ
ตำรายาไทย ใบ รสร้อนเฝื่อนขื่น ขับเลือดเน่าเสีย ขับน้ำคาวปลาให้สะดวกหลังคลอด แก้อักเสบบริเวณปากมดลูก ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้ แก้บวมฟกช้ำ ดำเขียว แก้พิษบาดทะยัก ใบตำผสมเหล้าขาว คั้นเอาน้ำกิน แก้สันนิบาตหน้าเพลิง (บาดทะยักในปากมดลูก) ขับโลหิตร้าย แก้สัตนิบาตเลือด แก้ประจำเดือนขัดข้อง ทำให้เลือดกระจาย ใบตำพอกห้ามเลือด กระพี้และเนื้อไม้ ถอนพิษไข้ ถอนพิษผิดสำแดง แก้ร้อนภายใน ยาง ใช้เบื่อปลา
ประเทศอินโดนีเซียใช้ ยาง เบื่อปลา ประเทศฮ่องกง ทั้งต้น แก้หัด แก้คางทูม ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้ปวดตึงกล้ามเนื้อหลัง
องค์ประกอบทางเคมี
ใบพบ beta-sitosterol, beta-sitosteryl-3-O-D-glucopyranoside, methyl 10-epipheophorbide-a, kaempferol, gallic acid, chiro-inositol, KCl
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/