ว่านธรณีสาร

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ว่านธรณีสาร

ชื่อสมุนไพร ว่านธรณีสาร
ชื่ออื่นๆ เสนียด (กรุงเทพมหานคร) กระทืบยอด (ชุมพร) ตรึงบาดาล (ประจวบคีรีขันธ์) ก้างปลาดิน ดอกใต้ใบ (นครศรีธรรมราช) คดทราย (สงขลา) ก้างปลาแดง ครีบยอด (สุราษฎร์ธานี) ก้างปลา (นราธิวาส) มะขามป้อมดิน(เชียงใหม่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllanthus pulcher Wall. ex Mull. Arg.
ชื่อพ้อง Diasperus pallidifolius Kuntze, D. pulcher (Wall. ex Müll.Arg.) Kuntze, Epistylium glaucescens Baill., E. phyllanthoides Baill., E. pulchrum Baill., Phyllanthus asteranthos Croizat, P. lacerilobus Croizat, Reidia glaucescens
ชื่อวงศ์ Euphorbiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
              ไม้พุ่มกึ่งยืนต้น ขนาดเล็ก สูง 1-1.5 เมตร ลำต้นตั้งตรง แผ่กิ่งก้านที่บริเวณใกล้ปลายยอด เปลือกต้นเรียบ เป็นสีน้ำตาล ลำต้นกลม มีรอยแผลใบตามลำต้น มีขนนุ่มที่กิ่งอ่อนและใบประดับ ส่วนอื่นเกลี้ยง  ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับแน่นระนาบเดียว บริเวณปลายยอด ประมาณ 15-30 คู่ ในแต่ละกิ่งย่อย แผ่นใบรูปขอบขนานเบี้ยว หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง 0.8-1.3 เซนติเมตร ยาว 1.5-2.5 เซนติเมตร ปลายใบมน โคนใบมนเบี้ยว ขอบใบเรียบ ปลายสุดมีติ่งแหลมเล็ก แผ่นใบเรียบทั้งสองด้าน แผ่นใบแผ่  และบาง หลังใบสีเขียว ด้านท้องใบสีเทาแกมเขียว เส้นใบข้าง 6-8 คู่ ก้านใบสั้น ยาว 0.8-1.5 มิลลิเมตร ก้านมีสีแดงเล็กน้อย หูใบรูปหอกแกมสามเหลี่ยม ขนาด 3-4 × 1.5-2 มิลลิเมตร สีน้ำตาลแดง ดอกเดี่ยว สีแดงเข้ม แยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ใบประดับมีขนนุ่มที่ฐาน ดอกตัวผู้ออกเป็นกระจุกที่ซอกใบ กลีบดอกมี 4 กลีบ โคนสีแดง เกสรเพศผู้มี 2 อัน ก้านชูสั้น เชื่อมติดกัน อับเรณูแตกตามยาว ก้านดอกบาง ยาว 5-10 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ขนาด 2-3 × 1-2 มิลลิเมตร สีแดงเข้ม ของแหว่ง มีต่อม จานฐานดอกเป็นต่อม 4 อัน รูปเหลี่ยม หรือรูปไต แบนบาง กว้าง  0.5-0.7  มิลลิเมตร ดอกตัวเมียมักออกตามซอกใบที่ปลายกิ่ง ดอกห้อยลง เรียงกันอยู่หนาแน่นตามใต้ท้องใบ กลีบดอกมี 6 กลีบ รูปไข่ ก้านดอกคล้ายเส้นด้าย ยาว 15-23 มิลลิเมตร โคนกลีบดอกติดกัน  มีขนตามขอบกลีบ ปลายกลีบดอกสีเขียว โคนกลีบดอกสีม่วงแดง กลีบเลี้ยง 6 กลีบ รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ขนาด 3.5-4 × ca. 1.5 มิลลิเมตร ขอบแหว่ง รังไข่รูปกึ่งกลม เกลี้ยง ส่วนปลายมี 6 พู ภายในรังไข่มี 3 ห้อง มีก้านชู 3 อัน ผลรูปทรงกลม ขนาด 3 มิลลิเมตร ผิวเกลี้ยง สีน้ำตาลอ่อน ก้านยาว 2-2.5 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงติดอยู่คงทน ผลเรียงเป็นแนวดูเป็นระเบียบอยู่ใต้ใบ พบกระจายตามป่าผลัดใบ ที่ระดับความสูงไม่เกิน 400 เมตร ออกดอกราวเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน ติดผลราวเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน จัดเป็นไม้มงคลโบราณนำมาประกอบทำน้ำมนต์ โดยใช้ใบของธรณีสารชุบน้ำมนต์ประพรมเป็นการปัดรังควานและเสนียดจัญไร

 

ลักษณะวิสัย

 

 

ใบ

 

 

ดอก

 

 

ดอก และ ใบ

 

 

ดอก ใบ และ ผล


สรรพคุณ    
              ตำรายาไทย ใบแห้ง บดเป็นผงแทรกพิมเสนกวาดคอเด็ก เพื่อลดไข้ รักษาแผลในปาก และขับลม ใช้พอกฝี บรรเทาอาการปวดบวมและคัน ต้น ต้มน้ำกินแก้ปวดท้อง เป็นยาล้างตา แก้ฝีอักเสบ ใบ ตำเป็นยาพอกเหงือกแก้ปวดฟัน และแก้อาการบวม และคันตามร่างกาย ราก รสจืดเย็น แก้ไข้ตัวร้อน แก้พิษตานซางเด็ก ต้มดื่มขับลมในลำไส้
              ประเทศมาเลเซีย ใบ ใช้แก้ปวดฟัน แก้โรคเหงือก แก้แผล แก้บวมคัน แก้ไข้สูง แก้นิ่วที่ไต ปวดกระเพาะอาหาร แก้ปวดแผลจากอาการไหม้

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 0
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่