พลองแก้มอ้น

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

พลองแก้มอ้น

ชื่อสมุนไพร พลองแก้มอ้น
ชื่ออื่นๆ ก้นถ้วย (นครราชสีมา) พลวดหม้อ (ชลบุรี) พลองขี้ไต้ พลองขี้อ้น (ประจวบคีรีขันธ์) พลองเสม็ด (ชุมพร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Rhodamnia dumetorum (DC.) Merr. & L.M.Perry
ชื่อพ้อง Eugenia dumetorum DC., Myrtus trinervia Lour., Nelitris trinervia (Lour.) Spreng., Opanea trinervia (Lour.) Raf., Rhodamnia siamensis
ชื่อวงศ์ Myrtaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้พุ่ม หรือไม้ต้นขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง สูงได้ถึง 15 เมตร กิ่งก้านรูปทรงกระบอก มีขนสั้นสีเทา กิ่งแก่มีเปลือกต้นสีน้ำตาล ผิวเรียบ ใบเดี่ยวออกตรงข้าม ใบรูปไข่หรือรูปรีแคบหรือรูปหอก กว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 4-7 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบมน ขอบใบเรียบ ผิวใบด้านบนมัน มักเรียบเกลี้ยง ผิวใบด้านล่างมีขนนุ่มสีขาวเทา หรืออาจเกลี้ยง มีเส้นใบออกจากฐาน 3 เส้น มองเห็นชัดเจนทั้งสองด้านของใบ ก้านใบยาว 5-10 มิลลิเมตร มีขน เนื้อใบเหนียวคล้ายหนัง ดอกช่อ ออกตามง่ามใบ หรือเกือบปลายยอด ตาดอกรูปลูกแพร์ขนาด 7 × 3.5 มิลลิเมตร ก้านช่อยาว 1 เซนติเมตร อาจมี 1-3 ดอก หรือเป็นกระจุก หรือเป็นกระจุกซ้อน ดอกขนาดเล็ก กลีบดอกสีขาว มี 5 กลีบ รูปไข่กลับ ขนาด 6 มิลลิเมตร  ด้านนอกมีขนสีขาว กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ขนาด 4-5 มิลลิเมตร วงกลีบเลี้ยงรูปไข่ ขนาด 1.5-2 มิลลิเมตร มีขนนุ่ม ฐานดอกรูปถ้วย ขนาด 4 มิลลิเมตร มีขนนุ่มสีขาว รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ผลสดรูปทรงเกือบกลม สีเขียวแดง เมื่อสุกสีม่วงดำ ขนาดประมาณ 8 x 6 มิลลิเมตร มีขนนุ่ม มีกลีบเลี้ยงติดคงทน ภายในมีเมล็ดรูปเหลี่ยมหลายเมล็ด ขนาดประมาณ 4 มิลลิเมตร ผลสุกสีม่วงดำ พบตามป่าทุ่งหญ้า ป่าเต็งรัง ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึง 600 เมตร ออกดอกราวเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม

 

ลักษณะวิสัย

 

 

ผล และ ใบ

 

 

ดอก

 

 

ดอก

 

 

ผลอ่อน และ  ผลสุก

 

 

ผลสุก

 

 

ผล และ เมล็ด


สรรพคุณ    
              ตำรายาไทย เปลือกต้นและใบ เป็นยาฝาดสมาน รักษาบาดแผล ราก ต้มน้ำดื่ม แก้ไข้ ผล ปรุงยาต้มแก้แผลเปื่อย โรคเหงือก  ผลสุกรับประทานได้

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 0
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่