ก้นถ้วยใหญ่

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ก้นถ้วยใหญ่

ชื่อสมุนไพร ก้นถ้วยใหญ่
ชื่ออื่นๆ ง้าย, ชวด, พรวด (ตราด), พรวดใหญ่ (ชลบุรี), พรวดผี (ระยอง), พรวดกินลูก (ตะวันออกเฉียงใต้), กาทุ, โทะ (ใต้), ทุ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Rhodomyrtus tomentosa (Aiton) Hassk.
ชื่อพ้อง Cynomyrtus tomentosa (Aiton) Scriv., Myrtus canescens Lour., Myrtus tomentosa
ชื่อวงศ์ Myrtaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้พุ่มหรือไม้ต้น  สูง 1-4 เมตร ทรงพุ่มกลม เปลือกลอกเป็นแผ่นบางๆ กิ่งอ่อนยอดอ่อน แผ่นใบด้านล่าง ก้านใบ ช่อดอก ก้านดอก กลีบเลี้ยง กลีบดอกด้านนอก และผล มีขนสั้นหนานุ่มสีเทา ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามกัน แผ่นใบรูปรีถึงรูปขอบขนาน กว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 5-10 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนเกลี้ยง ผิวใบด้านล่างมีขนสีขาวเป็นปุย ปลายใบทู่ โคนใบสอบ ขอบเรียบม้วนลงเล็กน้อย มีเส้นใบสามเส้นจากโคนจรดปลายใบ ก้านใบยาว 5 มิลลิเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนา เส้นแขนงใบข้างละ 1 เส้น ออกจากโคน เรียงโค้งจรดกันเป็นเส้นขอบใบ ดอกออกเดี่ยว หรือช่อกระจุกซ้อน ออกที่ซอกใบหรือปลายกิ่ง ก้านช่อยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร กลีบดอก มี 5 กลีบ สีม่วงแกมชมพู ดอกแก่สีขาว กลีบรูปไข่กลับเกือบกลม ยาว 1.5-2 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 3-4 เซนติเมตร ฐานรองดอกรูปถ้วย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านชูอับเรณูสีแดง ยาว 0.7-1 เซนติเมตร อับเรณูปลายมีต่อมขนาดเล็ก ก้านเกสรเพศเมียยาว 1-1.5 เซนติเมตร โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร สองกลีบในยาวกว่ากลีบนอกเล็กน้อย ปลายกลีบมน ติดทน ผลสดสีเขียวด้านๆ เมื่อแก่สีม่วงคล้ำถึงดำ รูปกลมแกมรี หรือเกือบกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1-1.5 เซนติเมตร มีขนสั้นๆ หนานุ่มสีเทาปกคลุม กลีบเลี้ยงติดทน เนื้อผลสุกสีม่วง นุ่ม หวาน มีเมล็ดมาก เมล็ดสีน้ำตาล รูปไต กว้าง 2 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร มีปุ่มกระจาย พบตามบริเวณดินทราย และบริเวณป่าพรุ ตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงระดับความสูงประมาณ 1,300 เมตร  ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมและติดผลราวเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม

 

ลักษณะวิสัย

 

 

ใบ และ ดอก

 

 

ดอกตูม

 

 

ดอก

 

 

ดอก

 

 

ดอก

 

 

ดอก และ ใบ

 

 

ผล

 

 

ผล

 

 

ผล และ เมล็ด


สรรพคุณ    
              ตำรายาไทย ทั้งต้น ต้มน้ำดื่มบำรุงเลือด ผลสุก มีรสหวานรับประทานได้
              ประเทศจีน รากและใบ รักษาอาการกระเพาะอาหารอักเสบเฉียบพลัน และเรื้อรัง  อาหารไม่ย่อย ตับอักเสบ

              ประเทศจีนและฮ่องกง ใช้ ราก รักษาเลือดออกจากมดลูกในหญิงหลังคลอด ผล รักษาโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์

              ประเทศจีนและมาเลเซีย ราก ต้มกินเป็นยารักษาอาการปวดหลัง ปวดข้อ ปวดเอว รักษาการติดเชื้อที่ผิวหนัง หรือผิวหนังพุพอง ใบ ใช้ตำแปะฝี  ยาต้มจากใบ ใช้ทำความสะอาดแผล เพื่อฆ่าเชื้อโรค
              ประเทศมาเลเซียใช้ ราก ใบ เป็นยาต้มรักษาอาการท้องเสีย แก้อาการแสบยอดอกจากกรดไหลย้อน

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 0
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่