กระบก
ชื่อสมุนไพร | กระบก |
ชื่ออื่นๆ | มะมื่น, มื่น (ภาคเหนือ), มะลื่น, หมักลื่น (สุโขทัย นครราชสีมา), บก, หมากบก (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กะบก, จะบก, ตระบก (ภาคกลาง), จำเมาะ, หลักกาย |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Irvingia malayana Oliv. ex. A. W. Benn. |
ชื่อพ้อง | Irvingella harmandiana Tiegh., I. malayana (Oliv. ex A.W.Benn.) Tiegh., I. oliveri (Pierre) Tiegh., I. oliveri |
ชื่อวงศ์ | Irvingiaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 35 เมตร ผลัดใบช่วงสั้นๆ ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดแน่นทึบและแผ่กว้าง ลำต้นหนาโคนต้นที่อายุมากมักเป็นพูพอน เส้นผ่านศูนย์กลางถึง 200 เซนติเมตร เปลือกสีเทาอมน้ำตาล เรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ เปลือกชั้นในสีส้มอ่อน กิ่งอ่อนมีรอยหูใบที่หลุดร่วงไปชัดเจน ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปรีแกมรูปขอบขนาน รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 2.5-9 เซนติเมตร ยาว 8-20 เซนติเมตร ปลายเป็นติ่งแหลม โคนสอบมน หรือเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างเกลี้ยง หรือมีขนประปราย ใบแก่ผิวเรียบ ด้านบนเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างมักจะมีนวลสีเขียวเทา เส้นแขนงใบ ข้างละ 8-10 เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแหเห็นชัดเจน ทั้งสองด้าน ก้านใบ ยาว 0.5-1.5 เซนติเมตร เป็นร่องทางด้านบน เกลี้ยง หูใบลักษณะเป็นกรวยยาวหุ้มยอดอ่อน ปลายแหลมโค้งเล็กน้อย เป็นรูปดาบ ยาว 1.5-3 เซนติเมตร หลุดร่วงง่าย ทิ้งร่องรอยเป็นวงแหวนบนกิ่ง ช่อดอก แบบช่อแยกแขนง ยาว 5-15 เซนติเมตร ออกตามซอกใบ หรือปลายกิ่ง ดอกมักจะออกก่อนที่จะเกิดใบชุดใหม่ ดอกร่วงอย่างรวดเร็ว ใบประดับ รูปไข่ปลายแหลม ขนาดเล็กร่วงง่าย ดอกขนาดเล็ก สีขาวอมเขียว หรือสีเหลืองอ่อน กลีบเลี้ยงและกลีบดอก มีอย่างละ 5 กลีบ กลีบเลี้ยง กว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร เชื่อมกัน กลีบดอก กว้างประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ยาว 2-3 มิลลิเมตร ปลายกลีบดอกจะม้วนออก เกสรเพศผู้ 10 อัน ติดกับขอบนอกของหมอนรองดอก รังไข่อยู่ เหนือวงกลีบ มี 2 ช่อง แต่ละช่อง มีออวุล 1 เม็ด ผล เป็นผลสด แบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปไข่หรือรูปรี กว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 4-5 เซนติเมตร มีนวลเล็กน้อย ผลมีสีเขียว เมื่อผลสุกสีเหลือง มีเนื้อสีส้ม เมล็ด 1 เมล็ด แข็ง รูปไข่หรือรูปรีแกมรูปไข่ ค่อนข้างแบน เนื้อในเมล็ดสีขาว และมีน้ำมัน พบตามป่าเต็งรัง ป่าชายหาด ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ตลอดจนป่าดิบชื้น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเล จนถึงประมาณ 300 เมตร ออกดอกระหว่าง เดือนมกราคม-มีนาคม ออกผล ระหว่างช่วง เดือน กุมภาพันธ์- สิงหาคม เนื้อในเมล็ดนำมาคั่วสุกมีรสมัน รับประทานได้ น้ำมันจากเมล็ด ใช้ทำอาหาร สบู่ และเทียนไขได้ ผลสุก เป็นอาหารสัตว์ป่า
ลักษณะวิสัย
ลำต้น
ดอก และ ใบ
ผลอ่อน
ผล
ผล และ เมล็ด
ผล และ เมล็ด
เมล็ด
เนื้อในเมล็ด
สรรพคุณ
ตำรายาไทย เนื้อในเมล็ด มีรสมันร้อน บำรุงเส้นเอ็น บำรุงไขข้อ แก้ข้อขัด บำรุงไต ฆ่าพยาธิในท้อง ไม่ระบุส่วนที่ใช้ ผสมกับกระเบาและมะเกลือ ต้มน้ำดื่มสำหรับผู้หญิงที่อยู่ไฟไม่ได้
ยาพื้นบ้านอีสานใช้ แก่น แก้ผื่นคัน แก้ไอ ผสมแก่นพันจำ และแก่นมะป่วน หรือผสมแก่นมะเดื่อปล้อง แก่นพันจำ แก่นปีบ และแก่นมะพอก ต้มน้ำหรือแช่น้ำดื่ม แก้ไอ ผสมลำต้นต่อไส้ และแก่นกันแสง แช่น้ำอาบ แก้ผื่นคัน แก่นผสมกับแก่นมะพอกต้มน้ำดื่มแก้ฟกช้ำ ลำต้น ต้มน้ำดื่ม รักษาโรคปอดพิการ แก้ไอเป็นเลือด ผสมเหง้าขมิ้นอ้อย รากทองแมว เมล็ดงา ครั่ง มดแดง และเกลือ ต้มน้ำดื่ม แก้เคล็ดยอก เปลือกต้น ผสมลำต้นเหมือดโลด ใบหวดหม่อน ลำต้นเม่าหลวง และเปลือกต้นมะรุม ตำพอกแก้ปวด ใบ ตำผสมกับเลือดควายใช้ย้อมแห น้ำมันจากเนื้อในเมล็ด ใช้ปรุงอาหาร
ยาพื้นบ้านล้านนา ใช้ เปลือกต้น ผสมเหง้าสับปะรด งวงตาล รากไผ่รวก นมควายทั้งต้น และสารส้ม ต้มน้ำดื่ม รักษาโรคหนองใน
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/