กาฝากก่อ

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

กาฝากก่อ

ชื่อสมุนไพร กาฝากก่อ
ชื่ออื่นๆ กาฝากไม้มังตาล (ชุมพร) กาฝากพญามหาปราบ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Helixanthera parasitica Lour.
ชื่อพ้อง Helicia parasitica (Lour.) Pers., Leucobotrys adpressa Tiegh., Loranthus adpressus (Tiegh.) Lecomte, Loranthus pentapetalus
ชื่อวงศ์ Loranthaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้พุ่มประเภทกาฝาก เป็นพืชเบียนเกาะอาศัยแย่งอาหารจากต้นไม้อื่น ยาวได้ถึง 1.5 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก กิ่งก้านมักห้อยลง กิ่งอ่อนค่อนข้างกลม ต้นเกลี้ยง ยกเว้นช่อดอกและดอกเมื่ออ่อนมีขน ต่อมาขนจะค่อย ๆ หลุดร่วงไปจนเกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามหรือเกือบตรงข้าม รูปไข่แกมใบหอกหรือรูปไข่ กว้าง 2-5 เซนติเมตร ยาว 5-12 เซนติเมตร ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ผิวใบเป็นมันวาวหรือหม่นทั้งสองด้าน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบกลมมน ขอบเรียบ เส้นกลางใบและเส้นใบเห็นชัดทั้งสองด้าน ก้านใบยาว 5-20 มิลลิเมตร ดอกช่อกระจะ รูปทรงกระบอก ออกที่ซอกใบ ยาว 10-15 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาว 1-2 มิลลิเมตร ดอกย่อยจำนวนมาก 40-60 ดอก เรียงชิดกันรอบแกนเป็นกระจุก ๆ สีแดงเข้ม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มิลลิเมตร หลุดร่วงง่าย กลีบดอกรูปขอบขนานแคบๆ 5 กลีบ ยาว 4-9 มิลลิเมตร โค้งกลับ โคนกลีบเชื่อมติดกัน รูปกระบอง ปลายมน สีแดง ผิวด้านนอกและผิวด้านในมีขนกำมะหยี่ ก้านช่อดอกมีขนสั้น หรือเป็นขุยสีน้ำตาล ใบประดับรูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยม ยาว 0.7-1.5 มิลลิเมตร ปลายแหลมหรือมน กลีบเลี้ยงเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายตัด ยาว 0.3-0.7 มิลลิเมตร ขอบเรียบกางออก เกสรเพศผู้มี 4 อัน ติดกับกลีบแบบตรงข้ามกลีบ อับเรณูยาว 1-2.5 มิลลิเมตร ปลายมน เกสรเพศเมีย มีรังไข่เกลี้ยงอยู่ใต้วงกลีบ ก้านเกสรเพศเมียยาว 3-5 มิลลิเมตร โคนเป็นเหลี่ยม ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มกลม ผลสด รูปทรงรี หรือรูปไข่กลับ ขนาด 6 x 4 มิลลิเมตร มีเมล็ดเดียว ผลสีเหลือง เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีดำ เมล็ดมียางเหนียวหุ้ม ออกดอกราวเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม ติดผลราวเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม พบบริเวณป่าชื้น ป่าโปร่ง และตามสวน ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลจนถึง 2,000 เมตร

 

ลักษณะวิสัย

 

 

ลำต้น

 

 

ช่อดอก และ ใบ

 

 

ช่อดอก และ ใบ

 

 

ดอก

 

 

ดอก

 

 

ผล


สรรพคุณ    
              ยาพื้นบ้านอีสานใช้ ทั้งต้น  ผสมกาฝากชนิดอื่น ๆ รวม 32 ชนิด ต้มน้ำดื่มแก้โรคตับโต
              ตำรายาไทย ใบ นำมาต้มน้ำ กินแก้ปวดกระเพาะอาหาร


องค์ประกอบทางเคมี
             ใบพบ ethyl gallate, gallic acid, quercitrin, 5,7,3',4'-tetrahydroxyflavan


ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
               สารสกัดน้ำจากต้น มีฤทธิ์ยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งตับในหลอดทดลอง ที่ระดับความเป็นพิษต่ำ, มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 0
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่