แกลบหนู

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

แกลบหนู

ชื่อสมุนไพร แกลบหนู
ชื่ออื่นๆ กระดูกเขียด (นครพนม) กระดูกอึ่ง (ราชบุรี บุรีรัมย์) กระดูกอึ่งใหญ่ (นครราชสีมา) แปรงหูหนู แกลบหูหนู (ปราจีนบุรี) อึ่งใหญ่ (กลาง อีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dendrolobium lanceolatum (Dunn) Schindl.
ชื่อพ้อง Desmodium dunnii Merr., Lespedeza lanceolata
ชื่อวงศ์ Leguminosae-Papilionoideae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง สูง 1-2 เมตร กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลอ่อนหนาแน่น เปลือกต้นสีน้ำตาล ผิวเรียบ ใบ ใบประกอบแบบขนนก ปลายคี่ เรียงสลับ มี 3 ใบย่อย ใบย่อยที่ปลาย ยาว 1.5-4 เซนติเมตร กว้าง 0.8-1.7 เซนติเมตร รูปรีหรือรูปหอก ฐานใบมน ปลายใบมน มีติ่งแหลม ขอบใบเรียบ ใบย่อยคู่ข้าง ยาว 1.2-3 เซนติเมตร กว้าง 0.6-1.5 เซนติเมตร รูปขอบขนานแกมรูปรี หลังใบเกลี้ยง ท้องใบที่ผิวใบด้านล่างมีขนสีน้ำตาลนุ่ม มีหูใบที่โคนก้านใบ และโคนใบย่อย ก้านใบยาว 0.5-2 เซนติเมตร เส้นแขนงใบข้าง 4-7 คู่ ยาวไม่ถึงขอบใบ ช่อดอก แบบช่อซี่ร่ม เป็นรูปคล้ายดอกถั่ว สีเหลืองอ่อน ออกที่ซอกใบ ยาว 5-10 มิลลิเมตร ดอกย่อยประมาณ 10 ดอก ก้านดอกย่อยยาว 2 มิลลิเมตร มีขนหนาแน่น กลีบเลี้ยง ขนาด 4 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันตรงโคน ปลายแยกเป็น 4 กลีบ สีเขียวแกมเหลือง กลีบดอก สีขาวแกมเหลืองอ่อน กลีบกลาง รูปไข่กลับขนาด 6-9 × 5-6 มิลลิเมตร กลีบคู่ข้าง รูปขอบขนานขนาด 5-6 × 1.5-2 มิลลิเมตร กลีบคู่ล่าง รูปขอบขนานแกมรูปรีขนาด 7-9 × 2.5 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้มี 10 อัน ขนาด 7-8 มิลลิเมตร เชื่อมกันเป็นสองกลุ่ม เกสรเพศเมีย มีรังไข่รูปไข่  มีขน ก้านชูยาว 7 มิลลิเมตร ผลเป็นฝักรูปวงรีกว้าง หรือรูปเกือบกลม แบน ผนังหนาขนาด 4-10 × 3-7 มิลลิเมตร ก้านสั้น เมล็ด มี 1 เมล็ด รูปไตแข็ง ขนาดประมาณ 3 × 2 มิลลิเมตร ผิวมันวาว พบตามป่าเต็งรัง ที่ระดับตั้งแต่ 100-800 เมตร ออกดอกช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ติดผลราวเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน

 

ลักษณะวิสัย

 

 

ลำต้น

 

 

ใบ และ ดอก

 

 

ดอก และ ใบ

 

 

ดอก

 

 

ผล

 

 

ผล


สรรพคุณ    
              ยาพื้นบ้านอีสาน รากแกลบหนู ผสมกับรากไชหิน และรากสังวาลพระอินทร์ ต้มรวมกัน ดื่มแก้โรคบิด รักษาอาการถ่ายเป็นมูกเลือด ราก ต้มน้ำดื่ม แก้โรคทางเดินปัสสาวะพิการ หรือไตพิการ รักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะมีสีขุ่นเข้มเหลืองหรือแดง มักมีอาการแน่นท้อง กินอาหารไม่ได้ รากผสมกับรากโมกมัน กาสามปีกใหญ่ รากเกล็ดปลาหมอ และรากหางหมาจอก ต้มน้ำดื่มแก้คุณไสย (อาการผอมแห้ง ใจสั่น มีอาการร้องไห้ในบางเวลา) ทั้งต้น เป็นอาหารวัวควาย

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 0
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่