ขันทองพยาบาท
ชื่อสมุนไพร | ขันทองพยาบาท |
ชื่ออื่นๆ | ดูกใส (อีสาน) ยางปลอก ยายปลวก ฮ่อสะพานควาย (แพร่ น่าน) ขันทองพยาบาท (ภาคกลาง) ดูกหิน (สระบุรี) ข้าวตาก (กาญจนบุรี) มะดูกเลื่อม (เหนือ) ขันทอง (พิษณุโลก) ขุนทอง (ประจวบคีรีขันธ์) กระดูก (ใต้) ป่าช้าหมอง ดูกไทร ขอบนางนั่ง สลอดน้ำ มะดูกดง ข้าวตาก ขนุนดง เจิง |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Suregada multiflora (A.Juss) Baill. |
ชื่อพ้อง | Gelonium affine S.Moore, G. bifarium Roxb. ex Willd., G. fascuculatum Roxb., G. multiflorum A.Juss., G. obtusum Miq., G. oxyphyllum Miq., G. sumatranum S.Moore, G. tenuifolium Ridl., Suregada affinis (S.Moore) Croizat, S. bifaria (Roxb. ex Willd.) Baill, S. glabra Roxb., S. oxyphylla (Miq.) Kuntze, S. sumatrana (S.Moore) Croizat, S. tenuifolia |
ชื่อวงศ์ | Euphorbiaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:
ไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 7-13 เมตร ทรงพุ่มแน่นทึบ ลำต้นตรง กิ่งก้านอ่อน กิ่งห้อยลง กิ่งมีขนรูปดาว เปลือกต้นสีน้ำตาลแก่ ผิวบางเรียบ เนื้อไม้สีขาว ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมรูปหอก กว้าง 3-8 เซนติเมตร ยาว 9-22 เซนติเมตร เนื้อใบหนาทึบ เหนียว หลังใบเรียบลื่นเป็นมัน ท้องใบเรียบสีอ่อนกว่า ฐานใบรูปหัวใจ ปลายใบเป็นติ่งยาว ขอบใบจักฟันเลื่อย ไม่มีขน มีต่อมใสๆ ขนาดเล็ก เส้นใบข้าง 5-9 คู่ ก้านใบยาว 2- 5 มิลลิเมตร ผิวใบด้านล่างมีต่อมสีเหลือง และมีขนรูปดาว หูใบขนาด 2 มม. แต่ละคู่เชื่อมกัน หลุดร่วงง่าย แต่ทิ้งแผลเป็นวงไว้ ดอกสีเขียวอมเหลืองอ่อน ออกเป็นช่อสั้นๆ ตรงซอกใบ ขนาด 0.8-1 ซม. กลิ่นหอม ช่อละ 5-10 ดอก อยู่ตรงกันข้ามกับใบ มีใบประดับยาว 1 มม. กว้าง 0.7-0.8 มม. รูปหอก ตรงปลายแหลม ดอกแยกเพศ แยกต้น ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้ ขนาด 2.5 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้ 35-60 อัน แต่ละอันมีต่อมที่ฐาน อาจพบเกสรตัวผู้ที่เป็นหมันปะปนอยู่ด้วย ฐานรองดอกนูนพองออก ดอกเพศเมีย ลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ รังไข่เหนือวงกลีบ มีขนหนาแน่น รังไข่มี 3 ช่อง ก้านเกสรตัวเมีย 3 อัน ปลายแยก รังไข่มีขนละเอียด มีหมอนรองดอก ก้านดอกยาว 5 มิลลิเมตร กลีบรองดอกมี 5 กลีบ หนา โคนเชื่อมกันเล็กน้อย ขอบจักเป็นซี่ฟัน ผลเกือบกลม ผิวเกลี้ยง ขนาด 2 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียวเมื่อสุกมีสีเหลืองอมแสด แตกตามพู มี 3 พู มีติ่งเล็กๆที่ยอด เมล็ดค่อนข้างกลม หนึ่งผลมี 3 เมล็ด ขนาด 7-8 มิลลิเมตร สีน้ำตาลเข้ม มีเนื้อบางๆสีขาว (aril) หุ้มเมล็ด พบตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ ที่ระดับความสูงไม่เกิน 600 เมตร ออกดอกช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ติดผลเดือนเมษายนถึงมิถุนายน
ลักษณะวิสัย
ลำต้น
ใบ
ช่อดอกเพศผู้
ดอกเพศผู้
ช่อดอกเพศเมีย
ดอกเพศเมีย และผล
ดอกเพศเมีย และผล
ผล
ผล
ผล
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย ราก รสเมาเบื่อร้อน แก้ลม แก้ประดง แก้พิษในกระดูก แก้โรคผิวหนัง รักษาน้ำเหลืองเสีย เปลือกต้น รสเมาเบื่อ แก้โรคตับพิการ แก้ปอดพิการ แก้ลมเป็นพิษ แก้โรคผิวหนัง แก้กลากเกลื้อน รักษามะเร็ง รักษามะเร็งคุด เป็นยาถ่าย เป็นยาระบาย เป็นยาบำรุงเหงือก แก้เหงือกอักเสบ ทำให้เหงือกแข็งแรง ทำให้ฟันทน แก้ประดง ถ่ายน้ำเหลือง แก้พิษในกระดูก ฆ่าพยาธิ แก้โรคเรื้อน คุดทะราด แก้กามโรค เนื้อไม้ รสเมาเบื่อ แก้กามโรค แก้น้ำเหลืองเสีย แก้ไข้ แก้โรคผิวหนัง แก้มะเร็งคุดทะราด แก้กลากเกลื้อน แก้ลมพิษ แก้ประดงผื่นคัน แก้ประดง แก้พิษในกระดูก ฆ่าพยาธิ แก้โรคเรื้อน แก้ลมและโลหิตเป็นพิษ เนื้อไม้ มีพิษทำให้เมา ใช้เป็นยาเบื่อ ลำต้น ต้มอาบสำหรับหญิงอยู่ไฟ ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แก้ลมเป็นพิษ แก้พิษต่างๆ แก้ลมพิษ แก้พิษในกระดูก แก้โรคประดง แก้โรคผิวหนัง ฆ่าพยาธิผิวหนัง แก้โรคมะเร็ง คุดทะราด แก้กามโรค ฆ่าพยาธิ แก้โรคเรื้อน แก้กลากเกลื้อน ฆ่าพยาธิโรคเรื้อน
องค์ประกอบทางเคมี:
เปลือกต้น พบสาร diterpenoids ได้แก่ suremulol C, suremulol D, entkaurene-3β,15 β-diol, abbeokutone, helioscopinolide A,helioscopinolide C, helioscopinolide I, suregadolides C, suregadolides, suremulide A, bannaringaolide A, suremulol A, suremulol B (kaurane diol) สารกลุ่ม triterpene alcohol ได้แก่ multiflorenol
ราก พบสารในกลุ่ม diterpene diol มีโครงสร้างเป็น ent-kaurene-3b, 15b-diol, สาร flavonesได้แก่ kanugin, desmethoxy kanugin และ pinnatin
ใบ พบสาร tetracyclic diterpene lactones ในกลุ่ม abiatene diterpene lactones หลายชนิด
เมล็ด พบสารไกลโคไซด์ 7,4’-O-dimethylscutellarein 6-O-β-D-glucopyranoside
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ
ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบในหลอดทดลองของสารสกัด และสารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากเปลือกลำต้นขันทองพยาบาท โดยใช้เซลล์แมคโครฟาจ RAW264.7ของหนู ซึ่งถูกกระตุ้นการอักเสบด้วยสาร lipopolysaccharide (LPS) จากผลการทดลองพบว่าสารสกัดเฮกเซน และไดคลอโรมีเทนจากเปลือกลำต้นขันทองพยาบาท ออกฤทธิ์แรงในการยับยั้ง nitric oxide (NO) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 8.6 µg/ml และ สารบริสุทธิ์ที่แยกได้ คือ helioscopinolide A แสดงฤทธิ์ยับยั้ง NO ได้สูงที่สุดที่ค่า IC50 เท่ากับ 9.1 μM ตามด้วย helioscopinolide C และ suremulol D มีค่า IC50 เท่ากับ 24.5 และ 29.3 μM ตามลำดับ สาร helioscopinolide A มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง prostraglandin E2 (PGE2) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 46.3 μM ฤทธิ์ต้านการอักเสบของ helioscopinolide Aเกิดจากกลไกในการยับยั้งการแสดงออกของยีน iNOS และ COX-2 mRNAทำให้การผลิต NO และพรอสตาแกลนดิน ที่เกี่ยวข้องในขบวนการอักเสบลดลง โดยการออกฤทธิ์ขึ้นกับขนาดของยา (Tewtrakul, et al., 2011)
ฤทธิ์แก้แพ้
แยกสารบริสุทธิ์จากสารสกัดไดคลอโรมีเทนของเปลือกต้นขันทองพยาบาทได้สารไดเทอร์ปีน 7 ชนิด คือ ent-16 -kaurene-3 β,15 β,18-triol, ent -3-oxo-16-kaurene-15 β,18-diol, ent -16-kaurene-3 β,15 β-diol, abbeokutone, helioscopinolide A, helioscopinolide C และ helioscopinolide I นำสารแต่ละชนิดมาทดสอบฤทธิ์แก้แพ้ในหลอดทดลอง โดยดูผลการยับยั้งการปล่อยเอนไซม์ β-hexosaminidase (ในการแพ้แบบ hypersensitivity type I จะมีอาการของโรคเกิดเร็วในเวลาเป็นนาที หรือชั่วโมง ภายหลังได้รับแอนติเจน ซึ่งจะเหนี่ยวนำการสร้างแอนติบอดีชนิด IgE ไปจับกับรีเซฟเตอร์บน mast cell และมีการปล่อยเอนไซม์ β-Hexosaminidase ร่วมกับ histamine ที่เก็บไว้ใน mast cell ออกมา ส่งผลให้เกิดอาการแพ้)ผลการทดลองพบว่าสารทั้ง 7 ชนิด มีฤทธิ์ยับยั้งการปลดปล่อยเอนไซม์ β-Hexosaminidase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ถูกปล่อยออกมาเมื่อกระตุ้นให้เกิดกระบวนการแพ้ ของเซลล์ RBL-2H3 โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) ของสารดังกล่าวข้างต้น มีค่าระหว่าง 22.5 - 42.2 ไมโครโมล โดยออกฤทธิ์ได้ดีกว่ายามาตรฐาน ketotifen fumarate (IC50 = 47.5 ไมโครโมล) (Cheenpracha, et al., 2006)
เอกสารอ้างอิง:
1. Cheenpracha S, Yodsaoue O, Karalai C, Ponglimanont C, Subhadhirasakul S, Tewtrakul S, et al. Potential anti-allergic ent-kaurene diterpenes from the bark of Suregada multiflora. Phytochemistry. 2006;67:2630-2634.
2. Tewtrakul S, Subhadhirasakul S, Cheenpracha S, Yodsaoue O, Ponglimanont C, Karalai C. Anti-inflammatory principles of Suregada multiflora against nitric oxide and prostaglandin E2 releases. J Ethnopharmacology. 2011;133:63-66.
ข้อมูลเครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/
ข้อมูลตำรับยาผสมเถาวัลย์เปรียง : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/