ข้าวสารป่า
ชื่อสมุนไพร | ข้าวสารป่า |
ชื่ออื่นๆ | กระดูกงูเหลือม, เข็มขาว (สุรินทร์), เข็มป่า, เข็มแพะ |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Pavetta tomentosa Roxb. ex Sm. |
ชื่อพ้อง | Ixora tomentosa Roxb. ex Sm. Pavetta praecox |
ชื่อวงศ์ | Rubiaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง สูง 1-5 เมตร เรือนยอดแผ่กว้างระเกะระกะ กิ่งเกลี้ยง หรือมีขนสั้นนุ่ม กิ่งอ่อนกลวง มีขนปกคลุมทั่วไป เปลือกต้นสีน้ำตาลออกชมพู ผิวเรียบ หลุดลอกเล็กน้อย ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 4-10 ซม. ยาว 8-15 ซม. ปลายมน หรือแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ หลังใบสีเขียวเข้ม ท้องใบสีเขียวหม่น ผิวด้านบนมีขนสั้นนุ่มประปราย ด้านล่างมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ 8-15 เส้น ก้านใบยาว 1-1.5 ซม. มีขน หูใบอยู่ระหว่างก้านใบ รูปสามเหลี่ยม หลุดร่วงง่าย กว้าง 5-6 มม. ยาว 3-7 มม. ด้านนอกมีขนสั้น ด้านในเกลี้ยง ก้านใบยาว 1-1.5 ซม. กิ่งก้านค่อนข้างสี่เหลี่ยม มีตุ่มพองสีเข้มบนผิวใบด้านล่าง ซึ่งมีแบคทีเรียที่ช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ดูคล้ายช่อเชิงหลั่น สีขาว มีกลิ่นหอม ออกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง หรือเหนือรอยแผลใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อยาวได้ถึง 15 ซม. ช่อดอกกลม หลวมๆ มีขนาด 10-15 ซม.ดอกย่อยจำนวนมาก ก้านดอกย่อย ยาว 5-10 มม. มีขน กลีบดอกสีขาว โคนเชื่อมกันเป็นรูปแตร หลอดแคบ หลอดยาว ประมาณ 10 มม. ผิวด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนหนาแน่นที่ปลายหลอด แยกเป็นกลีบ 4 กลีบ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาว 6-7 มม. กว้าง 2-3 ซม. กลีบดอกบิดซ้อนในดอกตูม เกสรเพศผู้ 4 อัน ติดที่ปลายหลอดกลีบดอก สลับกับแฉกกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูรูปขอบขนาน ยาว 4-5 มม. อับเรณูบิดเป็นเกลียว เชื่อมติดกับปากหลอดกลีบ รังไข่อยู่ใต้วงกลีบมี 2 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียเรียวและยาวมาก ยาวอย่างน้อย 2 เท่าของหลอดกลีบ โคนเกลี้ยง ปลายมีขนสั้น ๆ ยื่นยาวโผล่พ้นหลอดกลีบดอกมาก จานฐาน ดอกรูปวงแหวน กลีบเลี้ยง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 2 มม. ผิวด้านนอกมีขน ปลายหลอดแยกเป็น 4 กลีบ สั้น ๆ ผล คล้ายผลผนังชั้นในแข็ง กลม มี 2 พู เส้นผ่านศูนย์กลาง 4-6 มม. สีเขียวเป็นมัน เมื่อแก่เป็นสีดำ มีชั้นกลีบเลี้ยงกลมๆด้านบน เนื้อผลบาง ภายในมี 2 เมล็ด สีน้ำตาล ด้านหนึ่งโค้ง ด้านหนึ่งแบน พบทั่วไปในป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา และป่าเบญจพรรณ ความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-700 เมตร ออกดอกและเป็นผลระหว่างเดือนเมษายน- สิงหาคม
ดอก และ ใบ
ลำต้น
ใบ
ดอก
ดอก และ ใบ
ดอก
ผล
ผลอ่อน และ ผลสุก
สรรพคุณ
ยาพื้นบ้านอีสานใช้ รากหรือลำต้น ผสมสมุนไพรอื่นหลายชนิดต้มน้ำดื่ม แก้มะเร็ง รากต้มน้ำดื่มช่วยเพิ่มน้ำนม
ตำรายาไทย ราก ใช้กับหญิงคลอดบุตรช้ากว่ากำหนด ใบ รสเมาเบื่อ รักษาโรคในจมูก ฆ่าพยาธิ ใช้น้ำต้ม แก้อาการไข้ ใบและราก ใช้พอกฝี รักษาริดสีดวงทวาร แก้หิด เปลือกต้น มีรสเมาเบื่อ ตำคั้นเอาน้ำหยอดหูฆ่าแมลงคาในหู ผล รสเมาเบื่อ แก้ริดสีดวงงอกในจมูก ดอก มีรสฝาดเย็น แก้ตาแดงตาแฉะ ราก มีรสเฝื่อน แก้เสมหะในท้องและในทรวงอก ต้มน้ำกินแก้บิด