คุย
ชื่อสมุนไพร | คุย |
ชื่ออื่นๆ | หมากยาง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศรีสะเกษ อุบลราชธนี สุรินทร์) กะตังกะติ้ว (ภาคกลาง)คุยกาย คุยช้าง (ปราจีนบุรี) คุยหนัง (ระยอง จันทบุรี) อีคุย (ปัตตานี) บักยาง เครือยาง |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Willughbeia edulis Roxb. |
ชื่อพ้อง | Ambelania edulis (Roxb.) J.Presl, Ancylocladus cochinchinensis Pierre, A. curtisianus Pierre, A. edulis (Roxb.) Kuntze, Pacouria roxburghii Kostel., Willughbeia cochinchinensis (Pierre) K.Schum. , W. curtisiana (Pierre) K.Schum., W. dulcis Ridl., W. martabanica |
ชื่อวงศ์ | Apocynaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้เถาเนื้อแข็ง รอเลื้อยขนาดใหญ่ มีมือเกาะ เลื้อยได้ไกล 10-15 เมตร แตกกิ่งจำนวนมาก เปลือกต้นสีน้ำตาล ทุกส่วนของต้นมีน้ำยางสีขาวขุ่น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนาน กว้าง 5-7 เซนติเมตร ยาว 10-14 เซนติเมตร ปลายใบมน โคนใบรูปลิ่มถึงมน ขอบใบเรียบเป็นคลื่น ก้านใบยาว 1-2 ซม. เกลี้ยง ก้านใบมีร่องอยู่ด้านบน เนื้อใบหนา ผิวใบด้านบนเกลี้ยงเป็นมัน ด้านล่างมีขนนุ่มเล็กน้อย เส้นแขนงใบมี 15-16 คู่ ดอกช่อแบบช่อกระจุก ออกที่ซอกใบและปลายยอด ยาว 1.0-2.5 ซม. ก้านช่อดอกยาว 1-2 มม. มีขนเล็กน้อย มีดอกย่อย 5-6 ดอก ก้านดอกยาว 1-3 มม. มีขนสั้นๆ กระจายทั่วไป ใบประดับ 1 อัน รองรับดอกหรือช่อดอกรูปสามเหลี่ยมหรือรูปไข่ กว้าง 1.0-1.5 มม. ยาว 1.0-2.5 มม. ขอบมีขนครุย กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ยาวประมาณ 4 มม. ปลายแยกเป็น 5 แฉก โคนหลอดกลีบรูปถ้วยสั้นๆ ปลายแฉกมน รูปไข่ กว้าง 1.0-1.5 มม. ยาว 2-3 มม. ขอบมีขนครุย กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกรูปขอบขนาน สีขาวปนสีเหลือง เรียงบิดเวียนแบบขวาทับซ้าย ส่วนหลอดยาว 6-7 มม. ส่วนแฉกยาว 9-12 มม. ผิวเกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อยที่ส่วนปลายกลีบด้านนอก เกสรเพศผู้มี 5 อัน อับเรณูยาว 1.0-1.5 มม. ติดด้านหลัง ก้านชูอับเรณูสั้น เกลี้ยง สีเหลือง เกสรเพศเมีย รังไข่กึ่งใต้วงกลีบ มี 1 คาร์เพล 1 ช่อง 23-46 ออวุล รังไข่ยาว 0.5-1.0 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาว 2-3 มม. เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียแยกสองแฉกตื้นๆ สีเหลืองมีขนเล็กน้อย ดอกเมื่อบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-2.5 เซนติเมตร ผลเดี่ยวแบบผลสดมีเนื้อหลายเมล็ด ทรงกลมหรือรูปไข่ ขนาด 5.8-7.2 ซม. เปลือกผลค่อนข้างหนา สีเขียว ผิวเกลี้ยง เมื่อสุกสีเหลืองถึงส้ม มีน้ำยางสีขาวมาก ก้านผลยาว 0.8-1.2 ซม. มีขนเล็กน้อย เมล็ดรูปไข่ กว้าง 1.2-1.6 ซม. ยาว 1.9-2.8 ซม. เนื้อผลลื่นติดกับเมล็ด เปลือกหุ้มผลมีน้ำยางมาก ลักษณะเหนียวสีขาว มีเมล็ดประมาณ 1-3 เมล็ด ผลสุกรับประทานได้มีรสเปรี้ยวอมหวาน ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ติดผลราวเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน พบตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ
ลักษณะวิสัย
เถา
น้ำยางจากเถา
ดอก ใบ และ ผล
ดอก
ผลสุก
ผลอ่อน และ ผลสุก
มือจับ
ผล
ผล และ เมล็ด
สรรพคุณ
ตำรายาไทย เถา มีรสฝาด แก้ประดงเข้าข้อ ลมขัดในข้อ ในกระดูก แก้มือเท้าอ่อนเพลีย ต้มดื่มแก้บิด แก้ตับพิการ แก้คุดทะราด ราก รสฝาด แก้มือเท้าอ่อนเพลีย ต้มดื่มแก้โรคบิด แก้เจ็บคอ เจ็บหน้าอก เปลือกต้น รสฝาด ต้มดื่มแก้ปวดศีรษะ ยาง รสฝาดร้อน ทาแผล แก้คุดทะราด แก้เท้าเป็นหน่อ ผลดิบ รสเปรี้ยวฝาด ผลแห้งย่างไฟ บดทาแผล
ยาพื้นบ้านอีสานใช้ ลำต้น ผสมลำต้นม้ากระทืบโรง ต้มน้ำดื่ม บำรุงกำลัง เป็นยาอายุวัฒนะ เปลือก รักษาอาการปวดศีรษะ ราก ต้มกินรักษาโรคบิด น้ำยางใช้ทำกาวดักจับแมลงได้ เช่น จักจั่น โดยนำน้ำยางของพืช 3 ชนิด คือ ยางไทร ยางมะเดื่อหรือยางขนุน และยางเถาคุย มาผสมในอัตราส่วนเท่าๆ กัน จากนั้นเติมน้ำมันก๊าดหรือน้ำมันโซล่า แล้วนำไปเคี่ยวจนกระทั่งน้ำยางข้นเหนียว ทิ้งไว้ให้เย็นจึงนำมาใช้ได้ ลำต้น ใช้แทนเชือกมัดสิ่งของ ผลสุก มีรสเปรี้ยว รับประทานได้ หล่อลื่นลำไส้ ช่วยให้ขับถ่ายสะดวก
หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีใช้ เถา ต้มน้ำดื่ม แก้อัมพฤกษ์ อัมพาต
ยาพื้นบ้านภาคกลางใช้ ลำต้น ผสมสมุนไพรอื่น ต้มน้ำดื่ม แก้ลมคั่งข้อ
ยาพื้นบ้านภาคใต้ใช้ ลำต้น ต้มน้ำดื่ม แก้น้ำเหลืองเสีย รักษาโรคคุดทะราด แก้ลมขัดในข้อกระดูก แก้มือเท้าอ่อนเพลีย แก้ตับพิการ