ชะมวง
ชื่อสมุนไพร | ชะมวง |
ชื่ออื่นๆ | หมากโมง (อุดรธานี), กะมวง (ใต้), ส้มมวง (นครศรีธรรมราช) ส้มโมง |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Garcinia cowa Roxb. ex Choisy |
ชื่อพ้อง | Cambogia crassifolia Blanco, Garcinia cornea Roxb. ex Sm., G. roxburghii Wight, G. wallichii Choisy, Oxycarpus gangetica |
ชื่อวงศ์ | Clusiaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้น ขนาดเล็กถึงกลาง สูง 15-30 เมตร ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มเป็นรูปกรวยคว่ำทรงสูง เปลือกสีน้ำตาลปนเทา แตกเป็นสะเก็ด มีน้ำยางสีเหลือง ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปวงรีแกมใบหอกหรือรูปขอบขนาน กว้าง 2-3.5 เซนติเมตร ยาว 7-15 เซนติเมตร ปลายใบป้านหรือแหลมเล็กน้อย ฐานใบสอบแหลม ขอบใบเรียบ เนื้อใบหนาและแข็งเปราะ ก้านใบสีแดงยาว 0.5-1 เซนติเมตร ผิวใบเป็นมัน ใบอ่อนสีเขียวอ่อนหรือเขียวอมม่วงแดง ใบแก่สีเขียวเข้ม บริเวณปลายกิ่งมักแตกเป็น 1-3 ยอด เส้นใบไม่ชัด แต่ด้านหลังของใบเห็นเส้นกลาง ดอกแยกเพศ อยู่คนละต้น ดอกตัวผู้ออกตามกิ่งเป็นกระจุก ดอกย่อย 3-8 ดอก เกสรตัวผู้มีจำนวนมากเรียงกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม กลีบดอกสีเหลือง 4 กลีบ รูปรี แข็งหนา มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายกลีบกลม เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 2-2.5 เซนติเมตร ดอกตัวเมียเป็นดอกเดี่ยว ดอกมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย มีปลายเกสรเป็น 4-8 เหลี่ยม เกสรเพศเมียออกปลายกิ่ง เกสรเพศผู้เทียมเรียงอยู่รอบๆรังไข่ ก้านเกสรติดกันเป็นกลุ่มๆ ปลายก้านมีต่อม 1 ต่อม ผลสด รูปกลมแป้น ผิวเรียบ ขนาด 2.5-6 เซนติเมตร เมื่อสุกสีเหลืองแกมส้มหม่น มีร่องตื้นๆ 5-8 ร่อง ด้านบนปลายบุ๋ม และมีชั้นกลีบเลี้ยง 4-8 แฉกติดอยู่ เนื้อหนา สีเหลือง มีรสฝาด มีเมล็ดขนาดใหญ่ 4-6 เมล็ด รูปรี หนา เรียงตัวกันเป็นวงรอบผล พบทั่วไปในป่าชื้นระดับต่ำ มีความทนต่อความแห้งแล้งได้ดีกว่าพืชชนิดอื่นๆในจีนัสเดียวกัน พบตามป่าที่ระดับความสูง 600 เมตร จากระดับน้ำทะเล ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ติดผลราวเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ใบมีรสเปรี้ยว นำมาใส่แกง ปรุงอาหาร หรือกินเป็นผักสด ผลเมื่อสุกรับประทานได้ มีรสเปรี้ยว แต่มียางมากทำให้ติดฟัน
ลักษณะวิสัย
ดอก และ ใบ
ลำต้น
ดอกตูม
ดอกเพศผู้
ดอกเพศผู้
ดอกเพศเมีย
ผลอ่อน
ผลสุก
ผลดิบ และ ผลสุก
ผล และ เมล็ด
ผล และ เมล็ด
สรรพคุณ
ยาพื้นบ้านอีสานใช้ ราก ผสมรากปอด่อน รากตูมกาขาว และรากกำแพงเจ็ดชั้น ต้มน้ำดื่ม เป็นยาระบาย แก่น ฝนหรือแช่น้ำดื่ม แก้อาการเหน็บชา เปลือกต้น และยาง มีสีเหลือง ใช้ย้อมผ้า ใบอ่อนและผลอ่อน มีรสเปรี้ยวรับประทานได้
ตำรายาไทยใช้ ใบหรือผล รสเปรี้ยว เป็นยาระบาย แก้ไข้ กระหายน้ำ กัดฟอกเสมหะ แก้ธาตุพิการ ราก มีรสเปรี้ยว แก้ไข้ตัวร้อน แก้บิด แก้เสมหะ ใบ มีรสเปรี้ยว ปรุงเป็นยากัดฟอกเสมหะ และโลหิต แก้ไอ ผสมกับยาชนิดอื่นๆปรุงเป็นยาขับเลือดเสีย ใบและดอก เป็นยาระบายท้อง แก้ไข้ กัดฟอกเสมหะ รักษาธาตุพิการ ผล หั่นเป็นแว่นตากแห้ง ใช้กินเป็นยาแก้บิด
องค์ประกอบทางเคมี
ใบพบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ชนิด C-glycosideได้แก่ vitexin, orientin สารกลุ่มสเตียรอยด์ ได้แก่ beta-sitosterol
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์ลดระดับไขมันในเลือด
สารสกัดเฮกเซน และไดคลอโรมีเทนจากใบ ในขนาด 10 ug/mL จากการศึกษาในหลอดทดลอง (invitro enzymatic test) พบว่ามีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ HMG-CoA reductase ได้อย่างสมบูรณ์ ร้อยละ 100 และ 80.55 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการยับยั้งการทำหน้าที่ของเอนไซม์ที่ใช้ในการสังเคราะห์คอเลสเตอรอล และสารสกัดทั้งสองยังยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ pancreatic lipase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ย่อยไขมัน โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 67.45 และ 342.80 ug/mL ตามลำดับ
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/