ชัยพฤกษ์

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ชัยพฤกษ์

ชื่อสมุนไพร ชัยพฤกษ์
ชื่ออื่นๆ ขี้เหล็กยะวา เหล็กยะวา
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia javanica L.
ชื่อพ้อง Cassia bacillus Gaertn., C. bacillus Roxb., C. fistula "sensu Blanco, non Merr.", C. megalantha Decne., Cathartocarpus javanicus
ชื่อวงศ์ Caesalpiniaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
              ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 15-25 เมตร ขนาดทรงพุ่ม 6-8 เมตร ผลัดใบ ทรงพุ่มรูปร่ม แผ่กว้าง เปลือกต้นสีน้ำตาล ค่อนข้างเรียบ ต้นเล็กจะมีหนาม ต้นใหญ่จะมีรอยแผลปมหนามตามแนวขวาง ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ แกนกลางใบประกอบยาว 15-30 เซนติเมตร ใบย่อย 7-12 คู่ เรียงตรงข้าม รูปขอบขนาน หรือรูปไข่แกมรูปรี กว้าง 1.5-2  เซนติเมตร ยาว 3.5-5 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบกลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว สีเขียวสด เกลี้ยง ผิวใบด้านล่างสีอ่อนกว่า มีขนละเอียด ก้านใบยาว 1.5-4 เซนติเมตร ก้านใบย่อยสั้นมาก ดอกสีชมพู ออกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด ก้านช่อดอกใหญ่และแข็ง ไม่แตกแขนง  ช่อดอกตั้ง ยาว 5-16 เซนติเมตร ดอกย่อยรูปดอกหางนกยูงจำนวนมาก ดอกย่อยมีก้านดอกเรียว ยาว 3-5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปไข่ ปลายแหลม ยาว 7-10 มิลลิเมตร สีแดงเข้มถึงสีแดงอมน้ำตาล กลีบดอก 5 กลีบ รูปไข่กลับ กว้าง 7-8 มิลลิเมตร ยาว 25-35 มิลลิเมตร โคนคอดเป็นก้าน ยาวราว 3 มิลลิเมตร ดอกเมื่อเริ่มบานสีชมพูและเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม เมื่อใกล้โรยเปลี่ยนเป็นสีขาว เกสรเพศผู้ 9-10 อัน สีเหลือง 3 อัน มีลักษณะยาวโค้ง เส้นผ่าศูนย์กลางดอก 2.5-3.5 เซนติเมตร รังไข่เรียว มีขนคลุมบางๆ ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะฝักทรงกระบอก ผิวเรียบเกลี้ยง ไม่มีขน กว้าง 1.5-2 เซนติเมตร ยาว 30-60 เซนติเมตร ฝักอ่อนสีน้ำตาล เมื่อสุกสีดำ เมล็ดกลมแบน สีน้ำตาลเป็นมัน จำนวน 40-50 เมล็ดต่อฝัก ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ติดผลราวเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม

 

ลักษณะวิสัย

 

 

ลำต้น

 

 

ดอก และ ใบ

 

 

ดอก และ ใบ

 

 

ดอก

 

 

ดอก

 

 

ดอก

 

 

ฝัก


สรรพคุณ
              ตำรายาไทย ฝัก มีรสหวานเอียน ใช้ถ่ายเสมหะ แก้พรรดึก (ท้องผูก) ระบายพิษไข้ เป็นยาระบายที่ไม่ทำให้ปวดมวนในท้องหรือไซ้ท้อง ใช้ได้ในเด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง แก้ตานขโมย ใช้พอกแก้ปวดข้อ และสรรพคุณของยาไทยโบราณกล่าวว่า ส่วนอื่นๆเสมอด้วยสรรพคุณของต้นคูน เนื้อในฝัก เป็นยาระบายอ่อนๆ   

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 6
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่