แดง
ชื่อสมุนไพร | แดง |
ชื่ออื่นๆ | กร้อม (นครราชสีมา) คว้าย ผ้าน (เชียงใหม่ กาญจนบุรี) ตะกร้อม สะกร๊อม (จันทบุรี) ปราน (สุรินทร์) ไปรน์ (ศรีสะเกษ) ไคว เพร่ จะลาน จาลาน (แม่ฮ่องสอน) ตะกร๊อม (จันทบุรี) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Xylia xylocarpa (Roxb.) Taub. |
ชื่อพ้อง | Acacia xylocarpa (Roxb.) Willd., Inga xylocarpa (Roxb.) DC., Mimosa xylocarpa Roxb., Xylia dolabriformis |
ชื่อวงศ์ | Leguminosae-Mimosoideae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้น ผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15-30 ม. ลำต้นเรียวตรง กิ่งก้านลู่ลง เปลือกต้นเรียบสีเทาอมแดง เปลือกชั้นในสีชมพู เมื่อแก่เปลือกแตกร่อนมากที่โคนต้น กิ่งอ่อนยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลอ่อนประปรายหรือเกือบเกลี้ยง ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่ เรียงเวียน ก้านช่อใบรูปทรงกระบอก ยาว 4-7.5 ซม. มีขนประปราย ถึงหนาแน่น มีต่อมที่รอยต่อของก้านช่อ ใบย่อย หูใบรูปเส้นด้าย ยาวประมาณ 3 มม. ช่อใบย่อย 1 คู่ ยาว 10-30 ซม.แกนกลาง เป็นร่องตามยาว มีขนสั้นหนานุ่ม หรือเกือบเกลี้ยง มีต่อมระหว่างก้านใบย่อย ใบย่อย 3-6 คู่ เรียงตรงข้าม รูปไข่ถึงรูปรี กว้าง 1.8-6.5 ซม. ยาว 3.5-12.5 ซม. ปลายแหลม หรือเป็นติ่งหนาม โคนมนหรือกลม ขอบเรียบ ผิวด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนประปรายถึงมีขนกำมะหยี่ พบน้อยที่เกือบเกลี้ยง เส้นแขนงใบ ข้างละ 5-10 เส้น ก้านใบย่อย ยาว 2-3 มม. ผลิใบอ่อนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายน ภายหลังออกดอก ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่นทรงกลม ไม่แตกแขนง ดอกสีเหลืองอ่อนเรียงอัดแน่นอยู่บนฐานดอก ขนาด 1.5-2 ซม. โคนเชื่อมติดกันที่ฐานดอก ออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง ก้านช่อดอก ยาว 2.5-10 ซม. ประกอบด้วยดอกที่ไม่มีก้านจำนวนมาก ใบประดับรูปช้อน ยาว 2-3 มม. กลีบเลี้ยง ยาว3-3.5 มม. โคนเชื่อมกันเป็นรูปกรวย ปลายแยกเป็น 5 แฉก รูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยมปลายแหลม ผิวด้านนอกมีขนสั้น หนานุ่ม กลีบดอก 5 กลีบ ยาว 3.5-4.5 มม. โคนเชื่อมเป็นหลอด ปลายแยก 5 แฉก รูปขอบขนานแคบ ปลายแหลม ผิวด้านนอก มีขนประปราย ถึงมีขนสั้นหนานุ่ม เกสรเพศผู้ 10 อัน แยกจากกันเป็นอิสระ ยาว 5-12 มม. อับเรณูไม่มีต่อม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ยาว 2-2.5 มม. รูปขอบขนาน มีขนหนาแน่น ผล เป็นฝักแบน รูปไต หนาแข็ง สอบลงที่ฐาน โค้งงอที่ส่วนปลาย รูปร่างคล้ายบูมเมอแรง สีน้ำตาลแดง กว้าง 3.5-6 ซม. ยาว 9.5-10.5 ซม. โคนสอบ ผิวเรียบ แข็ง ฝักแก่แตกจากปลายลงสู่โคน แตกอ้าออกเป็น 2 ซีก ผนังของฝักที่แตกมักจะม้วนบิดงอ เมล็ด 7-10 เมล็ด รูปรีแบน กว้างประมาณ 7 มม. ยาวประมาณ 1 ซม. พบตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ความสูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 850 ม. ออกดอกระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ผลแก่ เดือนพฤศจิกายน- มกราคม
ลักษณะวิสัย
ลำต้น
เปลือกต้น
ลำต้น
ใบ
ดอก และ ผล
ดอก และ ใบ
ดอก และ ใบอ่อน
ฝัก
ฝัก
ฝัก และ เมล็ด
สรรพคุณ
ตำรายาไทย ดอก รสสุขุม เข้ายาแก้ไข้ บำรุงหัวใจ เปลือกต้น รสฝาดร้อน ช่วยสมานธาตุ ขับฟอกและบำรุงเลือด เปลือกต้นผสมกับสมุนไพรอื่น แก้ประดง (อาการผิวหนัง มีผื่นคัน เป็นเม็ดขึ้นคล้ายผด คันมากและมักมีไข้ร่วมด้วย) แก่น รสฝาดร้อนขื่น เข้ายาแก้โรคกระษัยโลหิต (อาการมะเร็งที่มดลูกและรังไข่ในสตรี หรือมะเร็งปอดของบุรุษ) ขับฟอกและบำรุงเลือด แก้กระษัยเลือดลม แก่นต้มน้ำดื่มเป็นยาถ่าย เปลือกต้นหรือแก่น แก้ช้ำใน ตกเลือด เนื้อในเมล็ด ของฝักอ่อนและยอดอ่อน รับประทานได้ เนื้อในเมล็ดของฝักแก่ หรือแห้งนำไปคั่ว หรือเผาไฟให้สุก กินได้ รสมันคล้ายเมล็ดแตงโม เปลือกในสีแดง ชาวบ้านนิยมขูดใส่ลาบเพื่อให้เนื้อจับตัวกันได้ดี
ตำรายาพื้นบ้านจังหวัดอำนาจเจริญ ผล เมล็ด นำมาบดให้ละเอียดห่อด้วยผ้า แล้วนำไปประคบที่ปวด ฟกช้ำ เปลือก นำมาต้มแก้เลือดและสมานลำไส้ แก้โรคเบาหวาน