ต่อไส้

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ต่อไส้

ชื่อสมุนไพร ต่อไส้
ชื่ออื่นๆ ก้ามปู, หมากก้ามปู (อุบลราชธานี), กวง, กุม, โลด, โลดน้ำ, ต่อไส้ขาว, สิบไส้ (ภาคใต้),ไก่เถื่อน, ตาลอีลิ้น (ภาคกลาง), ข้าวตาก, ง้วนพู (ภาคตะวันออก), คางลาง (ภาคกลาง), จ๊าตอง, เพี้ยฟาน (ภาคเหนือ), ตานโขมย (กาญจนบุรี), แมงเม่า (ภาคตะวันออกเฉียงใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Allophylus cobbe (L.) Raeusch.
ชื่อพ้อง Allophylus serrulatus Radlk., Allophylus zimmermannianus Gilg ex Engl., Aphania neoebudica Guillaumin, Aporetica gemella DC., Aporetica pinnata (J.R.Forst. & G.Forst.) DC., Cnesmocarpus excelsus Zipp. ex Blume, Diplocardia excelsa Zipp. ex Blume, Dubanus pinnatus (J.R.Forst. & G.Forst.) Kuntze, Euphoria pometia (J.R.Forst.) Poir., Irina tomentosa Blume, Picrodendron arboreum (Mill.) Planch., Pometia pinnata J.R.Forst. & G.Forst., Pometia tomentosa (Blume) Teijsm. & Binn., Rhus cobbe
ชื่อวงศ์ Sapindaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 1.5-3 เมตร ลำต้นตั้งตรง กิ่งอ่อนยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลอมเหลืองปกคลุม กิ่งสีน้ำตาลอ่อนแกมเทา รูปทรงกระบอก มีรูเปิดอากาศเล็กๆรูปทรงกลม ใบประกอบแบบนิ้วมือมีใบย่อย 3 ใบ เรียงเวียน ใบย่อยใบกลางรูปไข่แกมขอบขนานถึงรูปใบหอก กว้าง 2-4 เซนติเมตร ยาว 5-10 เซนติเมตร อาจพบที่แผ่นใบข้างทั้งสองมีขนาดเล็กกว่าใบกลาง แผ่นใบข้างรูปไข่เบี้ยว หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่เบี้ยว เนื้อใบบาง เหนียว ปลายใบและโคนใบแหลม ขอบใบช่วงบนจักฟันเลื่อย ช่วงล่างเรียบ ใบย่อยผิวใบเรียบ หรืออาจมีขนนุ่มที่เส้นใบย่อย ท้องใบมีขนสั้นๆที่เส้นกลางใบ ก้านใบร่วมยาว 5-11 เซนติเมตร มีขน ก้านใบย่อยยาว 3-12 มิลลิเมตร ดอกช่อกระจะยาว รูปทรงกระบอก ไม่แตกแขนง ยาวเท่ากับใบ มีขนสั้นนุ่ม ออก 2-4 ช่อ ที่ซอกใบหรือใกล้ปลายกิ่ง ดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอก 4 กลีบ มีขนาดเล็กสีขาวออกเหลือง รูปช้อน เส้นผ่านศูนย์กลาง 3 มิลลิเมตร ยาว 0.5-1 มิลลิเมตร มีเกล็ดเล็ก 2 อัน มีขนอุย กลีบเลี้ยง 4 กลีบ ยาว 0.5-1 มิลลิเมตร รูปไข่ป้าน ก้านชูเกสรเพศผู้มีขนนุ่มที่ฐาน ผลสด รูปไข่กึ่งทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 4-12 มิลลิเมตร ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกสีแดง มีเมล็ดเดียวแข็ง พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าโปร่ง ป่าดิบแล้งทั่วไป ที่ระดับน้ำทะเล 300-1,200 เมตร ออกดอกราวเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ติดผลราวเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม

 

ลักษณะวิสัย

 

 

ลำต้น

 

 

ใบ และ ผลอ่อน

 

 

ดอก

 

 

ดอก

 

 

ดอก

 

 

ใบ และ ผลอ่อน

 

 

ใบ และ ผลสุก

 

 

ผล และ เมล็ด


สรรพคุณ    
              ยาพื้นบ้านอีสานใช้ รากและลำต้น ต้มน้ำดื่ม บำรุงเลือด ขับน้ำคาวปลาหลังอยู่ไฟ
              ตำรายาไทย ใบ เป็นส่วนผสมปรุงยาช่วยในการคลอดบุตร น้ำคั้นทาแก้ลิ้นเป็นฝ้าในเด็ก ใบอ่อนตำผสมดินสอพอง สุมกระหม่อมเด็กแก้หวัด ราก รสจืดเอียน ใช้พอกแก้ปวดท้อง เป็นยาขับปัสสาวะ รักษาเส้นเอ็นที่ชำรุดให้สมบูรณ์ ใบและเปลือกต้น เป็นยาพอกแก้ฟกช้ำ ทั้งต้น แก้ไข้จับสั่น
              ประเทศอินเดีย เปลือกต้น ราก และใบ ใช้รักษาอาการปวดกระเพาะอาหาร และแก้ไข้ ผล ใช้เบื่อปลา

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 10
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่