ติ้วเกลี้ยง
ชื่อสมุนไพร | ติ้วเกลี้ยง |
ชื่ออื่นๆ | ขี้ติ้ว, ติ้วใบเลื่อม (เหนือ), ติ้วแดง (สุรินทร์), ติ้วหม่น |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Cratoxylum cochinchinense (Lour.) Blume |
ชื่อพ้อง | - |
ชื่อวงศ์ | Hypericaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้น ขนาดเล็กถึงใหญ่ ผลัดใบ สูงได้ถึง 30 เมตร เปลือกเรียบ หรือแตกเป็นสะเก็ด สีเทาอมน้ำตาล เปลือกต้นด้านในสีเหลืองอ่อน ลำต้นเปลาตรง มีน้ำยางสีเหลืองแกมแดง มีหนามแหลมยาว แข็งเป็นเนื้อไม้ ออกตามลำต้น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่กลับ กว้าง 2-3.5 ซม. ยาว 4.5 – 10 ซม. ปลายแหลม พบบ้างที่ทู่หรือกลม โคนสอบหรือมน ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้งสองด้าน ด้านล่างมักมีนวล เส้นแขนงใบข้างละ 10-18 เส้น ปลายเชื่อม กันก่อนถึงขอบใบ ก้านใบยาว 2-4 มม. ดอก เป็นดอกเดี่ยว หรือออกเป็นกระจุก 2-5 ดอก ที่ซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกสมบูรณ์เพศ ใบประดับขนาดเล็ก ร่วงง่าย ดอกมีกลิ่นหอม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1-1.2 ซม. ก้านดอกยาว ประมาณ 1 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ แยกเป็น 2 วง วงนอก 3 กลีบ ตรงกลางกลีบสีม่วงแดง ขอบสีเขียว ขนาดกลีบใหญ่กว่าวงในเล็กน้อย กลีบวงในมี 2 กลีบ สีเขียว รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ กว้าง 4-5 ซม. ยาว 5-7 ซม. กลีบดอก 5 กลีบ แยกจากกัน สีส้ม หรือส้มแดง รูปไข่กลับ กว้าง 3-4 มม. ยาว 6-7 มม. ผิวกลีบเกลี้ยง มีเส้นสีม่วงแดง ถึงดำ ตามยาว เกสรเพศผู้จำนวนมาก เชื่อมติดกันเป็น 3 กลุ่ม สลับกับกลุ่มเกสรเพศผู้ที่ไม่สมบูรณ์ 3 อัน ลักษณะเป็นก้อน อวบน้ำ สีเหลือง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบเกลี้ยง มี 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านเกสรเพศเมีย 3 อัน แยกจากกัน ผล แบบผลแห้งแตก รูปวงรี แข็ง เกลี้ยงเป็นมัน กว้าง 7-8 มม. ยาว 10-12 มม. กลีบเลี้ยงติดทน หุ้ม 2 ใน 3 ของความยาวผล ผลแก่แตกตามรอยประสาน เป็น 3 พู เมล็ด 6-8 เมล็ด ต่อช่อง เมล็ดมีปีกแบนและบางใส พบได้ในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ความสูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเล จนถึงประมาณ 700 เมตร ออกดอกและเป็นผล ระหว่างเดือนมกราคมถึงสิงหาคม
ลักษณะวิสัย
ลำต้น และ ใบ
ยอดอ่อน และ ใบ
ดอกตูม
ดอก
ดอก
ดอก
ผลอ่อน
ผลแก่
สรรพคุณ
ยาพื้นบ้านอีสานใช้ ต้นหรือราก ผสมลำต้นกำแพงเจ็ดชั้น ต้มน้ำดื่ม แก้กระษัยเส้น เป็นยาระบาย เปลือกต้น ใช้ทำสีย้อม ใบอ่อนและยอดอ่อนมีรสเปรี้ยวค่อนข้างฝาด รับประทานเป็นผักสด ไม้ ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการอยู่ไฟ
ตำรายาไทย เปลือกต้น ใช้รักษาอาการเสียดท้อง หรืออาการเกี่ยวกับลำไส้ น้ำยางจากเปลือก ที่เปลี่ยนเป็นสีแดง ใช้รักษาโรคหิด
ชาวมาเลเซีย ใช้ เปลือก และใบ ผสมกับน้ำมันมะพร้าวช่วยบำรุงผิว
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/