เต็งหนาม

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เต็งหนาม

ชื่อสมุนไพร เต็งหนาม
ชื่ออื่นๆ รังโทน (นครราชสีมา) เปาหนาม ฮังหนาม
ชื่อวิทยาศาสตร์ Bridelia retusa Spreng.
ชื่อพ้อง Bridelia amoena Wall. ex Baill., B. cambodiana Gagnep., B. chineensis Thin, B. cinerascens Gehrm., B. crenulata Roxb., B. fordii Hemsl., B. fruticosa Pers., B. pierrei Gagnep., B. roxburghiana (Müll.Arg.) Gehrm., B. spinosa (Roxb.) Willd., B. squamosa (Lam.) Gehrm., Clutia retusa L., C. spinosa Roxb., C. squamosa
ชื่อวงศ์ Euphorbiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้ยืนต้นหรือไม้พุ่ม ผลัดใบ ลำต้นตั้งตรง สูงได้ถึง 20 เมตร เรือนยอดไม่แน่นอน เปลือกต้นสีเทาอ่อนหรือน้ำตาลเทา ผิวเรียบเมื่อต้นอ่อน เมื่อต้นแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแก่ แตกเป็นร่องยาว และมีหนามแข็งขนาดใหญ่ ขึ้นบริเวณลำต้น ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปวงรีแกมขอบขนาน กว้าง 4-9 เซนติเมตร ยาว 8-20 เซนติเมตร ขนาดใบจะเล็กลงที่ปลายกิ่ง ใบเรียงตัวในแนวระนาบ ยอดอ่อนมีขนสีเทา ใบแก่ด้านบนเกลี้ยง ยกเว้นบนเส้นใบ ด้านล่างมีขนหรือเรียบเกลี้ยง เส้นใบข้างตรงและขนานกัน 16-24 คู่ เส้นใบข้างจรดกับเส้นใบย่อยที่ขอบใบ โคนใบมน ปลายใบแหลมหรือมน ใบหนา ท้องใบมีขนนุ่มสีขาว ก้านใบยาว 0.6-1.2 ซม. ไม่มีต่อม หูใบแหลมขนาด 2 มม.หลุดร่วงง่าย ใบแก่สีน้ำตาลออกชมพู ดอกช่อเชิงลดแยกแขนง ช่อดอกยาวเรียว ออกที่ซอกใบ และมักออกตามปลายยอดกิ่ง ที่ใบหลุดร่วงเป็นส่วนใหญ่ ช่อดอกแน่น ดอกย่อยจำนวนมาก 8-15 ดอก ดอกมีขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 ซม. ดอกแยกเพศ กลีบดอกสีเขียวหรือสีเขียวออกเหลือง อาจพบประสีส้มหรือสีแดง ก้านดอกอ้วน สั้นกว่า 2 มม. กลีบดอก 5 กลีบ ปลายแตกออกเป็นซี่ๆ ดอกตัวผู้มีเกสรตัวผู้ แต่เกสรตัวเมียเป็นหมันเชื่อมเป็นแท่งตรงกลางดอก ขนาด 1-1.5 มม.ปลายแท่งแผ่ออกเป็น 5 อับเรณู ดอกตัวเมียมีก้านชูเกสร 2 อันที่ปลายแยก รังไข่ขนาดน้อยกว่า 1.5 มม. มีส่วนของหมอนรองดอกรูปคนโทปิดไว้ กลีบเลี้ยงหนารูปสามเหลี่ยมขนาด 1.5-2 มม. ผลสด รูปทรงกลมหรือรูปไข่ แข็ง ไม่แตก ขนาด 0.5-0.9 เซนติเมตร ผลสีเขียวอ่อน เมื่อสุกสีม่วงดำ เนื้อในบาง เป็นผลเมล็ดเดียว พบทั่วไปในป่าดิบแล้ง ป่าผลัดใบ และที่โล่งแจ้ง ที่ระดับ 600-1,100  เมตร ออกดอกราวเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ติดผลราวเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม

 

ลักษณะวิสัย

 

ลำต้น

 

ลำต้น


ลำต้น

 

ลำต้น

 

หนามที่ลำต้น

 

ใบอ่อน

 

ใบ

 

ดอกเพศเมีย

 

ดอกเพศเมีย

 

ดอกเพศเมีย

 

ดอกเพศผู้

 

ผล

 

 

สรรพคุณ    
              ยาพื้นบ้านอีสานใช้ เปลือกต้น ปิ้งไฟ แช่น้ำเกลือ ดื่มแก้ท้องร่วง หรือนำเปลือกต้น ตำผสมกับหัวแห้วหมู และผักเสี้ยนผีทั้งต้น ทำเป็นลูกประคบ แก้ปวดหัวเข่า
              ตำรายาไทยใช้ เปลือกต้น ต้นน้ำดื่ม เป็นยาฝาดสมานอย่างแรง ยางจากเปลือกต้น ผสมน้ำมันงาใช้ทาถูนวดแก้ปวดข้อ ราก เข้ายาสมานท้อง แก้ท้องร่วง แก้บิด เป็นยาห้ามเลือด
              ประเทศศรีลังกาใช้ ราก เปลือกต้น รักษาโรคข้อรูมาติซึม และเป็นยาฝาดสมาน
              ตำรายาอายุรเวทของอินเดียใช้ ใบ รักษาโรคติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ  หรือใบต้มกินรักษาบิด ใบใช้ร่วมกับพืชอื่น และน้ำมันละหุ่ง น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันขิง ทารักษาแผล เปลือก ต้มกินเป็นยาคุมกำเนิดในสตรี


องค์ประกอบทางเคมี
             เปลือกต้นพบ สารกลุ่ม bisabolane sesquiterpenes ได้แก่ (E)-4-(1,5-dimethyl-3-oxo-1-hexenyl) benzoic acid, (E)-4-(1,5-dimethyl-3-oxo-1,4-hexadienyl) benzoic acid, (R)-4-(1,5-dimethyl-3-oxo-4-hexenyl) benzoic acid, (-)-isochaminic acid, (R)-4-(1,5-dimethyl-3-oxohexyl) benzoic acid (ar-todomatuic acid) สารอื่นๆที่พบ ได้แก่  5-allyl-1,2,3-trimethoxybenzene (elemicin), (+)-sesamin and 4-isopropylbenzoic acid (cumic acid)


ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
             สารสกัดแอลกอฮอล์จากใบและต้น เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และต้านเชื้อไวรัสเอดส์ได้โดยยับยั้งเอนไซม์ reverse transcriptase ในหลอดทดลอง สารสกัดแอลกอฮอล์จากเปลือกต้นมีฤทธิ์ต้านเนื้องอก และลดความดันโลหิต ไม่มีพิษเฉียบพลันในสัตว์ทดลอง
             สารสกัด จากเปลือกต้นมีฤทธิ์ต้านเชื้อรา Cladosporium cladosporioides (เชื้อราก่อโรคพืช)  สารไอโซฟลาโวน จากใบ มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียทั้งแกรมลบ และแกรมบวกหลายชนิด
             สารสกัดเมทานอลจากใบ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียก่อโรคทางเดินปัสสาวะ ดังนี้ Enterococcus faecalis, Staphylococcus aureus, Acinetobacter baumanniiEnterobacter aerogenes และ Pseudomonas aeruginosa  โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ฆ่าเชื้อได้ (MBC) เท่ากับ 3.41,  1.51, 4.27, 3.41 และ 9.63 mg/ml ตามลำดับ

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 12
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่