ปอเต่าไห้

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ปอเต่าไห้

ชื่อสมุนไพร ปอเต่าไห้
ชื่ออื่นๆ เต่าไห้ พญาไม้ผุ (ราชบุรี) พันไฉน พันไสน (กรุงเทพมหานคร) ปอตับเต่า (ภาคเหนือ เลย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Enkleia siamensis (Kurz) Nevling
ชื่อพ้อง Enkleia malaccensis
ชื่อวงศ์ Thymelaeaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้พุ่มรอเลื้อยตั้งตรง หรือไม้เถาเนื้อแข็ง สูง 2-5 เมตร เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาลเข้ม เหนียว มีมือเกาะออกตรงข้าม กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง มีขนประปราย ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม พบบ้างที่เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปรี พบบ้างที่เป็นรูปกลม กว้าง 3-6 ซม. ยาว 5-10 ซม. ปลายแหลมหรือมน มักมีติ่งหนามเล็ก ๆ โคนรูปลิ่มหรือมน ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเกลี้ยง มีขนสีเทาสั้นนุ่มตามร่องเส้นใบด้านล่างและที่เส้นแขนงใบ ประปรายถึงหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ 15-25 เส้น ชัดเจนทั้งสองด้าน ก้านใบยาว 6-8 มม. เกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่ม ช่อดอก แบบช่อซี่ร่ม ออกที่ปลายกิ่ง จำนวนดอก 3-15 ดอก ดอกสีเขียวหรือสีเหลือง ออกเป็นช่อที่ปลากิ่ง ก้านช่อดอก ยาว 2-5 ซม. ใบประดับเป็นเยื่อบางสีครีมแกมเขียวอ่อน รูปรี กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 2-5 ซม. ปลายและโคนมน มีขนทั้งสองด้านติดทน ใบประดับย่อย ขนาดเล็กรูปแถบ ติดทน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมกันเป็นหลอด ยาว 7-8 มม. ปลายแยกเป็น 5 แฉก กว้าง 1.5-2 มม.ยาว 3-4 มม. มีขนทั้งสองด้าน กลีบดอก 5 กลีบ รูปลิ้น ยาวประมาณ 2.5 มม. อวบน้ำ ปลายเป็นแฉกลึก 2 แฉก รูปขอบขนาน เกสรเพศผู้ 10 อัน เรียงเป็น 2 วง ก้านชูอับเรณู ยาว 0.5-1.5 มม. เกลี้ยง อับเรณูยาวประมาณ 1 มม. รังไข่รูปรี อยู่เหนือวงกลีบ ยาว 1-2 มม. มีขนคล้ายไหมหนาแน่น มี 1 ช่อง มีออวุล 1 เมล็ด ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยาว 1.5-2 มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม ผลสดรูปไข่ คล้ายผลผนังชั้นในแข็ง ผลมีสีเขียว กว้าง 6-8 มม. ยาว 1-1.5 ซม. ปลายแหลม เกลี้ยงหรือมีขนละเอียด มีก้านผลยาว มักพบร่องรอยของกลีบเลี้ยงที่โคนผล มีใบประดับ 2 ใบ สีน้ำตาลอ่อน ขนาด 2-4 เซนติเมตร เมล็ดรูปไข่ กว้าง 4-5 มม. ยาว 6-8 มม. พบทั่วไปตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ มักพบขึ้นปะปนอยู่กับไม้ต้นพวกยางชนิดต่างๆ ที่ความสูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 500 เมตร ออกดอกและติดผลระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน

 

ลักษณะวิสัย

 

ลำต้น

 

ใบ

 

มือจับ

 

ใบ เถา และ มือจับ

 

ช่อดอก

 

ดอก

 

ดอก

 

ผล

 

ผล

 

ผล

 

ผลแก่

 

สรรพคุณ    
              ตำรายาไทย แก่น แก้ประดง แก้ผื่นคันตามผิวหนัง แก้โรคเรื้อน คุดทะราด แก้ไอ แก้หืด ขับเสมหะ ขับลม ราก ใช้ประมาณ 2 ข้อนิ้วมือ ต้มน้ำดื่ม เป็นยาระบาย ใบ ต้ม ใช้รักษาโรคตา ผล ใช้เป็นยาถ่าย เปลือก ให้เส้นใยใช้ทำเชือก


องค์ประกอบทางเคมี
            รากพบ linobiflavonoid, chamaejasmin, 7-O-β-d-glucopyranosyl chamaejasmin, ormocarpin , ( - )-wikstromol, matairesinol , (+)-lariciresinol , carthamidin  สารกลุ่มคูมารินได้แก่ clausarin, nordentatin, daphnoretin, umbelliferone


ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
           สาร daphnoretin จากราก มีรายงานว่าสารนี้มีฤทธิ์กดการแสดงออกของยีนไวรัสตับอักเสบบี ในเซลล์ตับของมนุษย์ในหลอดทดลองได้

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 2
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่