ปีบ
ชื่อสมุนไพร | ปีบ |
ชื่ออื่นๆ | กาซะลอง กาดสะลอง (เหนือ) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Millingtonia hortensis L.f. |
ชื่อพ้อง | Bignonia azedarachta König & Sims, B. cicutaria K.D.Koenig ex Mart., B. hortensis (L.f.) Oken , B. suberosa Roxb., Millingtonia dubiosa |
ชื่อวงศ์ | Bignoniaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลัดใบ ลำต้นตรง สูงได้ถึง 25 เมตร เปลือกต้นหนาสีน้ำตาลอ่อนปนเทา แตกเป็นร่องลึก มีช่องอากาศ ยอดอ่อนมีขนนุ่ม ใบประกอบแบบขน 2-3 ชั้น ออกเรียงตรงข้าม มีใบย่อย 4-6 คู่ ใบรูปใบหอกแกมรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบหยักเป็นซี่หยาบ กว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร ยาว 3-5 เซนติเมตร ก้านใบยาว 3.5-6 เซนติเมตร แกนกลางใบประกอบยาว 13-19 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบทั้งสองด้าน เนื้อใบบางคล้ายกระดาษ มองเห็นเส้นใบชัดที่ด้านท้องใบ ดอกออกเป็นช่อกระจุกแยกแขนงที่ปลายกิ่ง ยาว 10-25 เซนติเมตร ดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกสีขาว มีกลิ่นหอม กลีบดอกมี 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด หลอดกว้างประมาณ 0.5 เซนติเมตร ยาว 5-8 เซนติเมตร ปลายกลีบแหลมแยกเป็นหลอดปากแตร 5 แฉก สามแฉกบนรูปขอบขนานปลายแยกจากกัน สองแฉกล่างค่อนข้างแหลม แยกจากกันที่ส่วนปลายแฉกเล็กน้อย ขนาดกลีบดอก 6.5-12.5 x 5.6- 6.5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงสีเขียว โคนเชื่อมติดกัน วงกลีบเลี้ยงรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 แฉก กว้างประมาณ 0.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร ติดคงทน เกสรเพศผู้อยู่ชิดกับกลีบดอก มีจำนวน 4 อัน แบ่งเป็นสองคู่ ยาวไม่เท่ากัน ก้านชูเกสรเพศผู้คู่ที่ยาวกว่า ยาวประมาณ 10.5 มิลลิเมตร อับเรณูที่ไม่เป็นหมันรูปขอบขนาน ยาว 4 มิลลิเมตร อับเรณูที่ฝ่อรูปแถบโค้ง ยาว 1.2 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปเส้นด้าย เกสรเพศเมียมีจำนวน 1 อัน อยู่เหนือวงกลีบ รังไข่รูปขอบขนานกึ่งรูปแถบ ยาว 4.5 มิลลิเมตร ภายในแบ่งเป็น 2 ห้อง ก้านชูรูปเส้นด้าย ปลายแยกเป็น 2 พู รูปกึ่งรูปไข่ ยาว 1.2 มิลิเมตร ผลเป็นฝักแบน ยาวแคบ รูปขอบขนาน ยาว 30-40 เซนติเมตร ปลายฝักแหลม ฝักอ่อนสีเขียว มีเนื้อ พอแห้งแข็ง แตกออกได้เป็น 2 ซีก เมล็ดแบน จำนวนมาก รูปหยดน้ำ มีปีกสีขาว ค่อนข้างบางใสอยู่โดยรอบเมล็ด ยกเว้นบริเวณส่วนปลายเมล็ดด้านแหลม ออกดอกราวเดือนกันยายนถึงธันวาคม ติดผลราวเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์
ลักษณะวิสัย (ขณะติดผล)
ลำต้น
ใบ
ลักษณะวิสัย (ขณะติดดอก)
ดอก
ดอก
ดอก
ดอก
ฝักอ่อน
ฝักแก่
เมล็ด
เมล็ด
สรรพคุณ
ตำรายาไทย ดอก รสหวานขมหอม ขยายหลอดลม มวนเป็นบุหรี่สูบรักษาหืด สูบแก้ริดสีดวงจมูก ไซนัสอักเสบ บำรุงน้ำดี เพิ่มการหลั่งน้ำดี บำรุงโลหิต บำรุงกำลัง แก้ลม ดอกใส่ปนกับยาไทย มวนสูบทำให้ปากหอม ราก รสเฝื่อน บำรุงปอด แก้หอบ แก้วัณโรคและโรคปอด แก้ไอ แก้เหนื่อยหอบ เปลือก แก้ไอ ขับเสมหะ
ประเทศแถบเอเชียใต้ (อินเดีย จีน พม่า) ใบและราก ใช้แก้หืด ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ใบ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แก้ไข้ แก้ไซนัสอักเสบ เพิ่มการหลั่งน้ำดี เป็นยาบำรุง ลำต้น บำรุงปอด และแก้ไอ เปลือกต้น ใช้เป็นสีย้อม ให้สีเหลือง ดอก ใช้รักษาหืด ไซนัสอักเสบ เพิ่มการหลั่งน้ำดี เป็นยาบำรุง ใช้ใส่ในยาสูบเพื่อรักษาโรคที่ลำคอ
องค์ประกอบทางเคมี
ดอกมีสารฟลาโวนอยด์ hispidulin ช่วยขยายหลอดลม และพบฟลาโวนอยด์อื่นๆ ได้แก่ scutellarein, scutellarein-5-galactoside, hortensin, cornoside, recimic, rengyolone, rengyoside B, rengyol, rengyoside A, iso rengyol, millingtonine ใบพบฟลาโวนอยด์ hispidulin, dinatin และสารอื่นๆได้แก่ ß carotene, rutinoside เปลือกต้น พบสารที่ให้ความขม และสารแทนนิน รากพบ Lapachol, β-sitosterol, poulownin
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
สารสกัดเมทานอลจากดอกมีฤทธิ์ขยายหลอดลมในหนูทดลอง สารสกัดน้ำจากเปลือกต้นมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดในหลอดทดลอง สารสกัดเอทานอลจากดอกมีฤทธิ์ปกป้องตับจากสารพิษในหนูทดลอง สารสกัดเมทานอลจากเปลือกต้นมีฤทธิ์ขับพยาธิ สารสกัดใบด้วยอะซิโทนมีฤทธิ์ฆ่าลูกน้ำยุง สาร hispidulin จากดอก มีฤทธิ์ต้านการชัก ทำให้สงบระงับในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้มีอาการลมชักได้