ผักปลัง
ชื่อสมุนไพร | ผักปลัง |
ชื่ออื่นๆ | ผักปลังใหญ่ (ภาคกลาง) ผักปั๋ง (ภาคเหนือ) ผักปลังขาว ผักปลังแดง |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Basella alba L. |
ชื่อพ้อง | Basella cordifolia Lam., B. japonica Burm.f., B. lucida L., B. nigra Lour., B. ramosa J. Jacq. ex Spreng., B. rubra L., B. volubilis Salisb., Gandola nigra |
ชื่อวงศ์ | Basellaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้เถาเลื้อยล้มลุก ลำต้นอวบน้ำ เกลี้ยง กลม แตกกิ่งก้านสาขา ยาวประมาณ 2-6 เมตร ถ้าลำต้นมีสีเขียว เรียกว่า “ผักปลังขาว” มีใบสีเขียวเข้ม ส่วนชนิดลำต้นสีม่วงแดง เรียกว่า “ผักปลังแดง” มีใบสีเขียวเข้ม ก้านใบสีม่วงแดง ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกสลับ รูปไข่ หรือรูปหัวใจ ใบกว้าง 2-8 เซนติเมตร ยาว 2.5-12 เซนติเมตร ใบอวบน้ำ มีลักษณะเป็นมันหนานุ่มมือ ฉีกขาดง่าย หลังใบและท้องใบเกลี้ยงไม่มีขน ขยี้จะเป็นเมือกเหนียว ปลายใบแหลม โคนใบรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ ก้านใบยาว 1-3 เซนติเมตร ดอกเป็นดอกช่อเชิงลด ออกตรงซอกใบ ยาว 3-21 เซนติเมตร ดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดเล็ก ไม่มีก้านชูดอก แต่ละดอกมี 5 กลีบ ผักปลังขาวออกดอกสีขาว ผักปลังแดงออกดอกสีม่วงแดง ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร มีใบประดับเล็ก 2 ใบ ติดที่โคนของกลีบรวม กลีบรวมรูประฆัง ยาว 0.1-3 มิลลิเมตร โคนเชื่อมติดกันเป็นท่อ ปลายแยกเป็นห้าแฉกเล็กน้อย เกสรเพศผู้มีจำนวน 5 อัน ติดที่ฐานของกลีบดอก อับเรณูรูปกลม ยาว 0.1-0.5 มิลลิเมตร ติดก้านชูเกสรที่ด้านหลัง ก้านชูเกสรเพศผู้ เป็นแท่งยาว 0.1-1 มิลลิเมตร เกสรเพศเมีย 1 อัน กลม ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 3 แฉก แต่ละแฉกเป็นรูปแท่งปลายแหลม ยาว 0.1-0.5 มิลลิเมตร รังไข่ 1 ช่อง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างรี ยาว 0.1-0.5 มิลลิเมตร ก้านชูเกสรเพศเมีย ยาว 0.1-0.5 มิลลิเมตร ผลเป็นผลสด รูปร่างกลมแป้น ฉ่ำน้ำ เส้นผ่านศูนย์กลาง 5-6 มม. ผิวเรียบ ปลายผลมีร่องแบ่งเป็นลอน ไม่มีก้านผล ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่มีสีม่วงอมดำ เนื้อภายในนิ่ม ภายในผลมีน้ำสีม่วงดำ เมล็ดเดี่ยว มีถิ่นกำเนิดในแถบแอฟริกา และมีการกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชีย เข่น จีน ญี่ปุ่น และไทย พบตามป่าทุ่ง ตามที่ชุ่มชื้นทั่วไป นิยมปลูกเป็นผักริมรั้ว ออกยอดตลอดปี
ลักษณะวิสัย (ผักปลังแดง)
เถา และ ใบ (ผักปลังแดง)
ลักษณะวิสัย (ผักปลังขาว)
เถา และ ใบ (ผักปลังขาว)
ยอดอ่อน และ ใบ (ผักปลังขาว)
ดอก (ผักปลังแดง)
ดอก (ผักปลังแดง)
ดอก (ผักปลังแดง)
ผล (ผักปลังแดง)
ผล (ผักปลังแดง)
ดอก (ผักปลังขาว)
ดอก และ ผล (ผักปลังขาว)
ผล (ผักปลังขาว)
สรรพคุณ
ตำรายาไทย ทั้งต้น รสเย็น ต้มดื่มแก้ขัดเบา แก้ท้องผูก ลดไข้ โขลกพอกแก้กลาก ผื่นคัน แก้พิษฝีดาษ แก้อักเสบ ใบ มีรสหวานเอียน ระบายท้อง ขับปัสสาวะ แก้บิด แก้อักเสบ แก้โรคกระเพาะอักเสบ แก้กลาก แก้ผื่นคัน ฝี ดอก รสหวานเอียน ใช้ทาแก้กลากเกลื้อน แก้โรคเรื้อน ดับพิษฝีดาษ แก้เกลื้อน คั้นเอาน้ำทาแก้หัวนมแตกเจ็บ ต้น รสหวานเอียน แก้อึดอัดแน่นท้อง ระบายท้อง แก้พิษฝีดาษ แก้พิษฝี แก้อักเสบบวม ต้มดื่มแก้ไส้ติ่งอักเสบ ราก รสหวานเอียน แก้มือเท้าด่าง แก้รังแค แก้โรคผิวหนัง แก้ท้องผูก แก้พรรดึก ใช้ทาถูนวดให้ร้อนเพื่อให้เลือดมาหล่อเลี้ยงบริเวณที่ทาให้มากขึ้น น้ำคั้นรากเป็นยาช่วยหล่อลื่นภายใน และขับปัสสาวะ ใบ ยอดอ่อน ช่อดอก นำมาต้มลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือนึ่งกับปลา ยอดอ่อน ใบ นำมาแกงจืดกับหมูสับ ช่อดอก ต้น และใบ แกงส้ม เป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหาร มีธาตุเหล็กและแคลเซียมสูง อุดมด้วยวิตามิน A, Bและ C เป็นผักที่มีเมือกมาก กินแล้วช่วยระบายอ่อนๆ ผล ใช้แต่งสีอาหาร ให้สีม่วงแดง
ประเทศอินเดีย ใช้ทั้งต้น แก้ลมพิษ ผื่นคัน แผลไฟไหม้ ต้นและใบ ใช้แก้มะเร็งเม็ดสีผิว มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งช่องปาก
ประเทศบังคลาเทศ ทั้งต้นใช้ตำพอกหน้า ป้องกันสิว และกระ
องค์ประกอบทางเคมี
สารฟีนอลิก สารบีทาเลน (จากผลสุก) ได้แก่ บีทานิดินมอโนกลูโคไซด์, กอมเฟรนีน
สารคาโรทีนอยด์ ได้แก่ นีออกแซนธิน, ไฟวโอลาแซนธิน, ลูเทอิน, ซีแซนธิน, แอลฟา และเบต้าแคโรทีน
สารเมือก (mucilage) องค์ประกอบเป็นพอลีแซคคาไรด์ที่ละลายน้ำ
สารซาโปนิน ได้แก่ basellasaponin (พบที่ลำต้น), betavulgaroside I, spinacoside C, momordin II B, momordin II C
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
สารเมือกมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ฤทธิ์ปกป้องเซลล์ โดยการเคลือบเนื้อเยื่อกระเพาะอาหาร และยับยั้งการหลั่งกรด ลดการอักเสบที่ผิว ลดการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิว ช่วยสมานรักษาผิวแห้ง ผื่นคัน ลดอาการระคายเคืองที่ผิว
สารสกัดผักปลังด้วยน้ำ ผสมกับสารสกัดจากใบของ Hibiscus macranthus มีผลเพิ่มน้ำหนักตัวของหนู เพิ่มน้ำหนักถุงน้ำเชื้ออสุจิ เพิ่มการสร้าง และพัฒนาของตัวอสุจิ ทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโตสเตอโรนในเลือดเพิ่มขึ้น
สารสกัดใบด้วยน้ำ ยับยั้งการก่อมะเร็งในตับหนูที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยสารเคมี โดยลดการทำลายของเซลล์ตับ ลดการเกิดปฏิกิริยาเพอรอกซิเดชันของไขมัน เพิ่มการหลั่ง IL-2 ในอาหารเพาะเลี้ยงเซลล์ม้ามของหนูถีบจักร
สารซาโปนินบีตาวุลกาโรไซด์1 มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด