ผักไผ่น้ำ

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ผักไผ่น้ำ

ชื่อสมุนไพร ผักไผ่น้ำ
ชื่ออื่นๆ ผักแพว (อีสาน) พริกม้า (โคราช) ผักไผ่ (เหนือ) หอมจันทร์ (อยุธยา) จันทน์โฉม จันทน์แดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Polygonum odoratum Lour.
ชื่อพ้อง Persicaria odorata
ชื่อวงศ์ Polygonaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้ล้มลุกปีเดียว สูง 30-35 เซนติเมตร ลำต้นเลื้อยและตั้งตรงมีรากงอกออกตามส่วนที่สัมผัสดิน มีกลิ่นฉุนทั้งต้นและใบ ลำต้นสีเขียวแกมสีน้ำตาลแดง ตามลำต้นมีข้อเป็นระยะๆ บริเวณข้อมักมีรากงอกออกมา  ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับ แผ่นใบรูปหอก หรือรูปหอกแกมรูปไข่ ใบกว้าง 2.5-3 เซนติเมตร ยาว 5-5.8 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ฐานใบรูปลิ่ม มีหูใบสีขาวบางลักษณะเป็นปลอกหุ้มรอบลำต้นบริเวณเหนือข้อหลวมๆ มีขนหยาบคล้ายสะเก็ด ปลายปลอกเป็นเส้นยื่นยาวหลายเส้น   ยาวถึง   0.7   เซนติเมตร   สีน้ำตาล ขอบใบมีขน แผ่นใบ และขอบใบเรียบ สีเขียว มีแต้มสีแดงที่ขอบใบและเส้นใบย่อย โดยเฉพาะที่เส้นกลางใบ   แบนเรียบไม่นูนหรือเป็นสัน มีขนยาวละเอียดอ่อน   เส้นใบเรียงขนานแบบขนนก   ยาวถึงส่วนปลายใบ เส้นกลางใบ ด้านล่างเป็นสันนูน   ไม่มีขน มีต่อมน้ำมันใส ก้านใบยาว 0.5-0.7 เซนติเมตร ฐานเชื่อมกับปลอกที่หุ้มลำต้น ดอกช่อยาว ออกที่ซอกใบ แบบเชิงลดแคบ ๆ มีดอกจำนวนมาก  ดอกเดี่ยวหรือเป็นคู่ ๆ  หรือเป็นกลุ่มกระจุก  ใบประดับรูปกรวย และยาว  มีขนยาวที่ขอบ  ดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกมี 5 กลีบ สีขาว ถึงชมพูแกมม่วง ไม่ร่วงเมื่อผลแก่ เกสรเพศผู้ มี 8 อัน เกสรเพศเมีย ก้านเกสร มี 3 อัน ผลมีขนาดเล็ก รูปคล้ายสามเหลี่ยม ยาว 1.5 มิลลิเมตร ปลายและท้ายเรียวแหลมทั้งสองด้าน ผิวเรียบและเป็นมันแวว สีน้ำตาล มีเมล็ดจำนวนมาก พบตามป่าใกล้ริมน้ำ ทุ่งนา คลองบึง แอ่งน้ำต่างๆ

 

ลักษณะวิสัย

 

 

ใบ

 

 

ดอก

 

 

ดอก

 

 

ดอก


สรรพคุณ    
              ตำรายาไทย ทั้งต้น รสเผ็ดร้อน ช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร ใบ คั้นผสมกับเหล้า ทาแก้กลากเกลื้อน และผื่นคัน กินเป็นยาขับลมขึ้นเบื้องบน ราก  ใช้แก้ริดสีดวง แก้ปวดเมื่อยตามร่างกายและข้อกระดูก รักษาหืด ไอ แก้ปวดท้อง แก้ท้องมาน ท้องเฟ้อ แก้กระเพาะอาหารพิการ แก้อุจจาระพิการ แก้เส้นประสาทพิการ ดอก  ใช้ขับเหงื่อ แก้เลือดตีขึ้น รักษาโรคปอด แก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ใบ รับประทานสด กินกับน้ำพริก ลาบ แหนมเนือง (อาหารเวียดนาม) ยอดอ่อนและใบอ่อน มีกลิ่นหอมฉุน ช่วยดับกลิ่นคาวเนื้อสัตว์

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 10
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่