พะยอม
ชื่อสมุนไพร | พะยอม |
ชื่ออื่นๆ | กะยอม (เชียงใหม่), ขะยอม (ลาว), แคน (เลย), พะยอม, สุกรม (ภาคกลาง), พะยอมทอง (สุราษฎร์ธานี, ปราจีนบุรี), ยางหยวก (น่าน) ขะยอมดง พะยอมดง |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Shorea roxburghii G.Don |
ชื่อพ้อง | Anthoshorea harmandii (Laness.) Pierre, Shorea attopoensis Pierre, S. cochinchinensis Pier, S. floribunda Kurz, S. harmandii Pierre, S. saigonensis Pierre, S. talura |
ชื่อวงศ์ | Dipterocapaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15-30 เมตร ผลัดใบระยะสั้น ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหรือรูปไข่ เปลือกนอกหนาสีน้ำตาลหรือเทา แตกเป็นร่องตามยาวของลำต้น และเป็นสะเก็ดหนา กิ่งอ่อนเกลี้ยง ใบเดี่ยวเรียงสลับ กว้าง 3-7.5 เซนติเมตร ยาว 8-15 เซนติเมตร หูใบรูปใบหอกขนาดเล็ก ใบรูปขอบขนาน โคนมน ปลายมนหรือหยักเป็นติ่งสั้นๆ เนื้อใบค่อนข้างหนา เป็นมัน แผ่นใบเกลี้ยงหรือมีเกล็ดด้านล่าง ขอบใบมักเป็นคลื่น ใบอ่อนสีเขียวอ่อนสดใส ใบแก่สีเหลืองก่อนหลุดร่วง ก้านใบยาว 1-2.5 เซนติเมตร มีขนสั้นๆ สีน้ำตาล เส้นใบข้างโค้ง 14-18 คู่ ดอกช่อออกตามปลายกิ่งหรือเหนือรอยแผลใบ ยาว 7-10 เซนติเมตร ขนาดดอก 1.5-3.5 เซนติเมตร กลีบดอกสีขาวหรือขาวแกมเหลืองอ่อน มี 5 กลีบ กลิ่นหอมจัด กลีบดอกบิดเป็นเกลียว เชื่อมกันที่ฐาน เวลาร่วงหลุดทั้งชั้น เกสรตัวผู้มี 15 อัน เรียงเป็น 3 ชั้น ก้านชูอับเรณูสั้น ปลายอับเรณูมีรยางค์ ยาวประมาณ 1.5 เท่า ของความยาวอับเรณู เกสรตัวเมียเรียวเล็กยาวเท่ากับรังไข่ รังไข่เกลี้ยงช่วงโคน ปลายแยก 3 แฉก รังไข่มี 3 ช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อน 2 อัน กลีบเลี้ยงเกลี้ยง สีขุ่น มี 5 กลีบ หลอดกลีบเลี้ยงหุ้มเมล็ดเกือบมิด ก้านดอกยาว 1.5 เซนติเมตร ผลรูปกระสวย อยู่ใต้กระพุ้งโคนปีก มีปีกยาว 3 ปีก ขนาดกว้าง 0.6-1 เซนติเมตร ยาว 6-8 เซนติเมตร ปลายมนกลม เมื่อแห้งจะเป็นสีน้ำตาลแก่ เส้นตามยาวปีกชัดเจน ปีกสั้นมี 2 ปีก กว้าง 0.3-0.4 เซนติเมตร ยาว 3-4 เซนติเมตร มีเส้นปีก ปีกละประมาณ 10 เส้น โคนปีกหนา ส่วนกลางผลขนาด 1.2-1.4 เซนติเมตร ปลายยาวและแหลม ผลแก่สีน้ำตาลแดง เมล็ดเกลี้ยง ปลายมีติ่งแหลม เวลาแก่หลุดร่วงแล้วหมุนด้วยปีกไปไกล ออกดอกเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ติดผลเดือนมีนาคมถึงเมษายน พบตามป่าเต็งรัง หรือป่าที่ถูกรบกวนน้อย ป่าเบญจพรรณแล้ง และป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูง 100-1,000 เมตร เมื่อดอกบานจะปกคลุมด้วยดอกสีขาวทั้งต้น มีกลิ่นหอม นิยมปลูกเป็นไม้ประดับดอกหอม
ลักษณะวิสัย
ลำต้น
ใบ
ดอก
ดอก
ดอก ลำต้น และ ใบ
ดอก
ดอก
ผลอ่อน
ผลแก่
ผล
สรรพคุณ
ตำรายาไทย ดอก รสหอมสุขุม ปรุงเป็นยาแก้ลม บำรุงหัวใจ ลดไข้ เปลือกต้น รสฝาด ต้มดื่มแก้ท้องร่วง แก้ลำไส้อักเสบ ฝนทาสมานบาดแผล ชำระแผล รักษาผดผื่นคัน ทุบเปลือกต้นใส่น้ำตาลสดที่ปาดจากงวงตาลเพื่อกันบูด หรือใส่เครื่องหมักดองเพื่อกันบูด เปลือกใช้ฟอกหนังและเคี้ยวกับหมากได้ ยอดอ่อนและเปลือก เป็นยาสมานแผล ทำยาเย็นแก้ไข้ แก้ร้อนใน ชันไม้ ใช้เป็นน้ำมันชักเงา และยาเรือ ดอกอ่อน มีรสมัน ลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือนำมาแกงส้ม ต้มจืด ผัดน้ำมันหอย ผัดกับไข่ หรือชุบไข่ทอด
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/