พะยูง
ชื่อสมุนไพร | พะยูง |
ชื่ออื่นๆ | ขะยุง (อุบลราชธานี), แดงจีน (ปราจีนบุรี), ประดู่ตม, ประดู่น้ำ (จันทบุรี), พะยูงไหม (สะบุรี), ประดู่ลาย (ชลบุรี), ประดู่เสน (ตราด), กระยง, กระยุง |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Dalbergia cochinchinensis Pierre. |
ชื่อพ้อง | |
ชื่อวงศ์ | Leguminosae -Papilionoideae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ผลัดใบช่วงสั้นๆ ลำต้นสูง 15-30 เมตร ทรงพุ่มรูปไข่หรือแผ่กว้าง โปร่ง เปลือกต้นสีเทาเรียบ แตกไม่เป็นระเบียบ และหลุดร่อนเป็นแผ่น เปลือกในสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อไม้มีสีแดงอมม่วงถึงแดงเลือดหมูแก่ เนื้อละเอียด แข็งแรงทนทาน ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ใบย่อย 7-9 ใบ รูปไข่หรือรูปใบหอก กว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 4-7 เซนติเมตร ปลายใบแหลมเป็นติ่งหู โคนใบมนกว้าง ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว คล้ายแผ่นหนัง แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้ม แผ่นใบด้านล่างสีเขียวนวล แกนกลางใบประกอบยาว 10-15 เซนติเมตร เส้นแขนงใบข้างละ 5-7 เส้น ก้านใบย่อยยาว 3-6 เซนติเมตร ดอกช่อแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายยอดหรือซอกใบใกล้ปลายยอด ช่อดอกตั้งขึ้น ยาว 10-20 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ขอบหยักซี่ฟันตื้นๆ 5 จัก มีขนสั้น กลีบดอกรูปดอกถั่ว สีขาวนวล มีกลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบดอกยาว 0.8-1 เซนติเมตร ดอกบานเต็มที่กว้าง 5-8 มิลลิเมตร กลีบดอก 5 กลีบ เกสรเพศผู้ 10 อัน เชื่อมติดกันเป็น 2 มัด ดอกร่วงพร้อมกัน ภายใน 2-3 วัน ผลเป็นฝักแห้งไม่แตกออก ฝักจะร่วงหล่นโดยที่เมล็ดยังอยู่ในฝัก ฝักรูปขอบขนาน แบนบาง เกลี้ยง กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 4-5 เซนติเมตร ตรงกลางมีกระเปาะหุ้มเมล็ด เมล็ดรูปไต สีน้ำตาลเข้ม 1-4 เมล็ด ต่อฝัก ผิวเมล็ดค่อนข้างมัน กว้างประมาณ 4 มม. ยาว 7 มม. ออกดอกราวเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ติดผลราวเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน พบตามป่าเบญจพรรณชื้น ป่าดิบแล้ง ที่ความสูง 100-200 เมตร จากระดับน้ำทะเล เนื้อไม้มีสีสันและลวดลายสวยงามจนถือได้ว่าเป็นไม้ที่มีราคาแพงที่สุดชนิดหนึ่งในตลาดโลก เนื้อไม้พะยูงมีความละเอียดเหนียว แข็งทนทานและชักเงาได้ดี มีน้ำมันในตัวจึงมักใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องใช้ต่าง ๆ มีชื่อเป็นมงคล เชื่อว่าปลูกไว้จะช่วยพยุงให้โชคดีมีชัย
ลักษณะวิสัย
ลำต้น
ดอก และ ใบ
ดอก
ดอก
ดอก
ดอก
ดอก
ผล
ผล
สรรพคุณ
ยาพื้นบ้านอีสานใช้ เปลือกต้นหรือแก่น ผสมแก่นสนสามใบ แก่นแสมสาร และแก่นขี้เหล็ก ต้มน้ำดื่ม แก้มะเร็ง เปลือกต้นหรือแก่น ผสมลำต้นหวาย ต้มน้ำดื่ม แก้เบาหวาน
ตำรายาไทย ราก ใช้รับประทานแก้พิษไข้เซื่องซึม เปลือก ต้มเอาน้ำอมแก้ปากเปื่อย ปากแตกระแหง ยางสด ใช้ทาแก้เท้าเปื่อย
องค์ประกอบทางเคมี
ลำต้นพบสารกลุ่มฟีนอลิกและฟลาโวน ได้แก่ 9-hydroxy-6,7-dimethoxydalbergiquinol, 6-hydroxy-2,7-dimethoxyneoflavene, 6,4'-dihydroxy-7-methoxyflavan , 2,2',5-trihydroxy-4-methoxybenzophenone, 7-hydroxy-6-methoxyflavone
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
สารฟีนอลิกจากลำต้นมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ 5alpha-reductase ทำให้ลดปริมาณการสร้างฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน อาจนำไปพัฒนายารักษาโรคที่มีสาเหตุจากฮอร์โมนแอนโดรเจนมากเกินไป
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/