พีพวนน้อย
ชื่อสมุนไพร | พีพวนน้อย |
ชื่ออื่นๆ | นมแมว นมวัว (กลาง) พีพวน หำลิง ติงตัง ตีนตั่งเครือ สีม่วน (อีสาน) หมากผีผ่วน บุหงาใหญ่ นมแมวป่า (เหนือ) นมควาย (ใต้) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Uvaria rufa Blume |
ชื่อพ้อง | |
ชื่อวงศ์ | Annonaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้เถาเลื้อย มักทอดเลื้อยบนต้นไม้สูง ยาว 1.5-4 เมตร กิ่งก้านและยอดอ่อนปกคลุมด้วยขนละเอียดสีน้ำตาลแดงหนาแน่น เปลือกลำต้นสีม่วงอมเทา ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง 4-6 ซม. ยาว 6-15 ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนมนหรือกลม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ หลังใบมีขนรูปดาวแข็ง ด้านล่างมีขนอ่อนนุ่มหนาแน่น ก้านใบ ยาว 3-4 มม. มีขนหนาแน่น เส้นใบ 8-15 คู่ ดอกเดี่ยว หรือออกเป็นกระจุก 2-3 ดอก ที่กิ่งก้าน ออกตรงข้ามใบ หรือเหนือซอกใบ ช่อดอก ยาว 1.1-1.5 ซม. ก้านช่อดอกยาว 1-3 มม. มีขนกระจายหนาแน่น ก้านดอกย่อยยาว 0.5-0.8 ซม. มีขนหนาแน่น ใบประดับมี 1 ใบ รูปสามเหลี่ยมปลายมน ติดตรงกลางก้านดอก กว้าง 3-6 มม. ยาว 3-13 มม. มีขนหนาแน่น กลีบเลี้ยง 3 กลีบ บางคล้ายกระดาษ มีขนปกคลุม เชื่อมติดกันที่โคนเล็กน้อย ปลายแยกเป็น 3 แฉก ส่วนกว้างที่โคน 5-6 มม. ยาว 3-4 มม. กลีบดอก 6 กลีบ แยกกัน บางครั้งอาจมี 8 กลีบได้ แยกเป็น 2 วง ๆ ละ 3 กลีบ ขนาดเท่า ๆ กัน ดอกสีแดงสดแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเลือดนก มีกลิ่นหอม กลีบดอกรูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง 4-6 มม. ยาว 8-10 มม. ปลายมนหรือกลม มีขนทั้งสองด้าน ดอกบานเต็มที่กลีบมักโค้งลงไปทางก้านดอก เกสรเพศผู้จำนวนมากอัดกันแน่น 30-45 อัน สีเหลือง รูปทรงกระบอก กว้าง 1.0-1.5 มม. ยาว 3-4 มม. โคนและปลายตัด ขอบเรียบ วงนอกมักเป็นหมัน เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 10-12 อัน เรียงซ้อนเหลื่อมและแยกกันในชั้นนอกสุดของวง เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ รูปไข่กลับ กว้าง 2.0-2.5 มม. ยาว 3.5-4.0 มม. โคนตัด ปลายกลมหรือมน ขอบเป็นเยื่อบางๆ จักฟันเลื่อยถี่ สีขาวหรือเหลืองอ่อน เกลี้ยง เกสรเพศเมีย 7-12 อัน แต่ละอันมี 20-25 ออวุล รูปทรงกระบอก กว้างประมาณ 0.5 มม. หรือมากกว่าเล็กน้อย ยาว 3.0-3.5 มม. โคนและปลายตัด สีเหลืองหรือน้ำตาลอ่อน มีขนหนาแน่นตามก้านเกสรเพศเมีย มีรังไข่เหนือวงกลีบ คาร์เพลแยก จำนวนมาก ผลแบบผลกลุ่ม มีผลย่อย 4-20 ผล ต่อช่อ รูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 1.0-1.1 ซม. ยาว 1.7-4.0 ซม. มีขนสีน้ำตาลสั้นๆปกคลุม ผลเริ่มสุกสีเหลือง สุกเต็มที่สีแดงสด ก้านผลยาว 1-4 ซม. ก้านผลย่อยยาว 1.8-2.6 ซม. เนื้อข้างในสีขาว เมล็ดรูปรี แต่ละผลมี 14-18 เมล็ด กว้าง 1-2 มม. ยาว 3-4 มม. โคนเว้า ปลายมน ขอบเรียบ ผิวเกลี้ยง สีน้ำตาล
พบทั่วไปในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าละเมาะ หรือตามชายป่าดิบ ตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเล จนถึงที่สูงประมาณ 1,000 เมตร ออกดอกช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน ติดผลราวเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ผลสุก รสหวานอมเปรี้ยว รับประทานได้
ลักษณะวิสัย
ลำต้น (ไม้เลื้อย)
ลำต้น
มือจับ
ใบ
ดอก
ดอก
ดอก
ดอก
ดอก
ดอก
ผลอ่อน
ผลอ่อน
ผลสุก
ผล และ เมล็ด
สรรพคุณ
ตำรายาไทย เนื้อไม้และราก แก้ไข้กลับไข้ซ้ำ ต้มกินแก้ไข้เนื่องจากกินของแสลง ราก แก้ผอมแห้งสำหรับสตรีที่อยู่ไฟไม่ได้หลังการคลอดบุตร ใช้เป็นยากระตุ้นการคลอด บำรุงน้ำนม รากและเนื้อไม้ รักษาอาการไข้ไม่สม่ำเสมอ ผล แก้เม็ดผื่นคันตามตัว เป็นยาเย็นถอนพิษ ผลสุก บดกับน้ำ ทาแก้ผดผื่นคัน รักษาโรคหืด
ชาวบ้านแถบหมู่เกาะลูซอล และมินดาเนา ของฟิลิปปินส์ใช้ ราก แช่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ให้หญิงที่จะคลอดบุตรกิน เพื่อเพิ่มการบีบตัวของมดลูก ช่วยเร่งการคลอดบุตร
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/