มะกล่ำตาหนู
ชื่อสมุนไพร | มะกล่ำตาหนู |
ชื่ออื่นๆ | ตากล่ำ กล่ำเครือ กล่ำตาไก่ มะกล่ำเครือ (เหนือ, อีสาน) มะแค๊ก (เชียงใหม่) เกรมกรอบ (เขมร) ไม้ไฟ (ตรัง) มะกล่ำดำ ตาดำตาแดง |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Abrus precatorius L. |
ชื่อพ้อง | Abrus abrus (L.) Wright, A. cyaneus R.Vig., A. maculatus Noronha, A. minor Desv., A. pauciflorus Desv., A. squamulosus E.Mey., A. tunguensis Lima, Glycine abrus |
ชื่อวงศ์ | Papilionaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้เถาเลื้อยอายุหลายปี สูงถึง 5 เมตร เถาเนื้ออ่อน สีเขียว ขนาดเล็ก เถากลมเล็กเรียวและมีขนสีขาวปกคลุม โคนเถาช่วงล่างจะแข็งและมีขนาดใหญ่ ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ ก้านหนึ่งจะมีใบย่อย 8-20 คู่ ใบย่อยรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบมีหนามขนาดเล็กติดอยู่ ใบยาว 5-20 มิลลิเมตร กว้าง 3-8 มิลลิเมตร โคนใบมน ปลายใบมน ขอบใบเรียบขนาน หน้าใบเรียบ หลังใบมีขนปกคลุม ท้องใบมีขนเล็กน้อย มีหูใบ ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจะ ออกที่ซอกใบ ยาว 2.5-12 เซนติเมตร ก้านช่อดอกใหญ่ นิ่ม มีขนปกคลุม ยาว 9 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวหรือสีม่วงอ่อน เชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกมีรอยหยัก 4 รอยฟันเป็นสีเขียวอมเหลือง ผิวนอกมีขนปกคลุม กลีบดอกล่างจะใหญ่กว่ากลีบดอกช่วงบน และจะอัดแน่นติดกันอยู่ในช่อเดียวกัน ดอกรูปดอกถั่ว กลีบดอกสีชมพูแกมม่วง ดอกขนาดเล็ก ยาว 3 มิลลิเมตร กลีบกลางรูปไข่กลับ กลีบคู่ข้างรูปขอบขนาน กลีบคู่ล่างรูปไข่แกมรูปขอบขนาน มีเกสรตัวผู้ 9 อัน เกสรเพศเมียมีรังไข่รูปขอบขนาน มีขน ติดกันเป็นกระจุก ใบประดับรูปหอก ใบประดับย่อยรูปแถบแกมรูปขอบขนาน ปลายแหลม ผลเป็นฝักรูปทรงกระบอกแกมรูปไข่ ออกเป็นพวง ยาวแบน ยาว 2-4.5 เซนติเมตร กว้าง 1.2-1.4 เซนติเมตร มีขนสีน้ำตาล ปลายฝักแหลม เปลือกฝักเหนียว ฝักอ่อนมีสีเขียว ฝักแก่แตกได้ตามแนวยาว ภายในฝักมีเมล็ดอยู่ 3-6 เมล็ด รูปกลมรี เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-5 มิลลิเมตร สีแดง บริเวณขั้วจะมีแถบสีดำ ผิวเรียบ เงามัน พบตามป่าเต็งรัง ออกดอกราวเดือนกันยายนถึงธันวาคม
ลักษณะวิสัย
ฝักอ่อน และ ใบ
ดอก และ ฝักอ่อน
ดอก
ฝัก
ฝัก
ฝัก และ เมล็ด
ฝักแก่ และ เมล็ด
สรรพคุณ
ตำรายาไทย ใบ มีรสหวาน ใช้แก้ร้อนในกระหายน้ำ ใช้ใบชงน้ำรับประทานแทนน้ำชา ใบต้มน้ำดื่มแก้เจ็บคอ แก้หลอดลมอักเสบ แก้ตับอักเสบ กระตุ้นน้ำลาย ขับปัสสาวะ แก้ปวดบวมตามข้อ ปวดตามแนวประสาท ตำพอก แก้ปวดบวม แก้อักเสบ และแก้จุดด่างดำบนใบหน้า รากใช้แก้เจ็บคอ ไอแห้ง ขับปัสสาวะ ราก รสเปรี้ยวขื่น ขับเสมหะ แก้เสียงแห้ง กล่องเสียงอักเสบ แก้ไอ แก้หวัด เถาและราก รสจืด ชุ่ม เป็นยาสุขุม ไม่มีพิษ ใช้เป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับพิษร้อน แก้คออักเสบ คอเจ็บ คอบวม ขับเสมหะ แก้เสียงแห้ง แก้ไอหวัด แก้หืด แก้ไอแห้ง แก้หลอดลมอักเสบ แก้อาเจียน แก้ตับอักเสบ แก้ดีซ่าน ขับปัสสาวะ และขับเสมหะ เมล็ด เป็นพิษ ใช้ได้เฉพาะภายนอก รสขมเผ็ดเมาเบื่อ บดผสมน้ำมันพืช ทาแก้กลากเกลื้อน ฆ่าพยาธิผิวหนัง ฝีมีหนอง และใช้ทำยาฆ่าแมลง
ข้อควรระวัง เมล็ดมีพิษมาก ห้ามรับประทาน หากเคี้ยวกินเพียง 1-2 เมล็ด จะทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องรุนแรง ตับและไตถูกทำลาย ชัก และเสียชีวิตได้
องค์ประกอบทางเคมี
ใบ พบสารหวานชื่อ abrusosides (หวานกว่าน้ำตาลทราย 30-100 เท่า), glycyrrhizic acid มีความหวานสูง และไม่มีพิษ เมล็ดพบสารโปรตีนที่มีพิษชื่อ abrin
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/