มะแตกต้น

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

มะแตกต้น

ชื่อสมุนไพร มะแตกต้น
ชื่ออื่นๆ หมากผ่าสาม (อุบลราชธานี), ผ่าสามน้อย (ยโสธร), ผ่าสามเตี้ย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Casearia flexuosa Craib.
ชื่อพ้อง -
ชื่อวงศ์ Salicaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 4 เมตร บริเวณกิ่งอ่อนและตายอดมีขนนุ่มปกคลุม ใบเดี่ยว เรียงสลับ มีรูปร่างแผ่นใบหลายแบบและหลายขนาด เช่น รูปวงรีแคบ วงรีแกมขอบขนาน รูปขอบขนานถึงใบหอกแกมขอบขนาน รูปไข่กลับ กว้าง 1-5 เซนติเมตร ยาว 3-15 เซนติเมตร แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ โคนใบรูปลิ่ม ปลายใบแหลม ขอบใบจัก มีขนสีเหลืองทั้งสองด้าน หลังใบเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ท้องใบมีขนประปราย เส้นใบข้าง 5-8 คู่ ก้านใบมีขน หูใบรูปใบหอกแกมรูปแถบ บางคล้ายกระดาษ ขนาด 1.5-3 มิลลิเมตร มีขนนุ่มประปราย ก้านใบยาว 3-10 มิลลิเมตร มีขนนุ่มสั้น ดอกช่อ แบบช่อกระจะ ออกที่ซอกใบ มี 2-3 ดอก สีขาวแกมเขียว ก้านดอกยาว 1 มิลลิเมตร ใบประดับรูปไข่ ขนาด 2 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ รูปขอบขนานแกมไข่กลับ ขนาด 2-3 มิลลิเมตร เป็นขนครุย เกสรเพศผู้มี 8 อัน ก้านชูยาว 1 มิลลิเมตร มีขนนุ่ม อับเรณูรูปขอบขนานแกมรูปไข่  ขนาด 0.5-0.7 มิลลิเมตร รังไข่รูปไข่แคบ ขนาด 1 มิลลิเมตร ก้านชูยาว 0.5-1 มิลลิเมตร ยอดเกสรเพศเมียกลม มี 3 พู เรียบ ผลสด ทรงรี ขนาดกว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 1.5 เซนติเมตร ก้านผลยาว 5 มิลลิเมตร มี 3-4 พู เมื่อแก่ผลแตกเป็น 3 แฉก ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกสีเหลือง เมล็ดรูปไข่ สีขาว มีเนื้อหุ้มเมล็ดสีแดง มี 3-8 เมล็ด ออกดอกราวเดือนเมษายน ติดผลราวเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม พบที่สูงจากระดับน้ำทะเล 100-700 เมตร

 

ลักษณะวิสัย

 

ใบ และ ผล

 

ดอก และ ใบ

 

ดอก

 

ผลอ่อน

 

ผลแก่

 

ผลแก่

 

ผลสุก

 

ผลสุก และ เนื้อหุ้มเมล็ด

 

ผลแตก และ เมล็ด

 

ผลแตก และ เมล็ด

 

ผลแตก และ เมล็ด


สรรพคุณ    
               ยาพื้นบ้านอีสานใช้ ราก ต้มน้ำดื่ม ขับปัสสาวะ ต้มน้ำอม แก้ลิ้นเป็นฝ้าขาว ทั้งต้น ใช้เดี่ยวหรือผสมลำต้นพลับเขา ผลพริกไทย และหัวกระเทียม ต้มน้ำดื่ม บำรุงโลหิตหลังคลอด ไม่ระบุส่วนที่ใช้ เป็นยาบำรุงกำลัง

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 1
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่