คนทีสอ
ชื่อสมุนไพร | คนทีสอ |
ชื่ออื่นๆ | คนทีสอขาว(ชลบุรี);โคนดินสอ (ภาคกลาง จันทบุรี) ดินสอ (ภาคกลาง) สีสอ (ประจวบคีรีขันธ์) มูดเพิ่ง (ตาก)ผีเสื้อน้อย (เหนือ) สีเสื้อน้อย ดอกสมุทร (เชียงใหม่) ผีเสื้อ (เลย) ทีสอ เทียนขาว (เพชรบุรี) คุนตีสอ (สตูล) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Vitex trifolia L. |
ชื่อพ้อง | |
ชื่อวงศ์ | Verbenaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่ม ขนาดกลาง สูงประมาณ 3-6 เมตร ทั้งต้นมีกลิ่นหอม เปลือกลำต้นเรียบ สีเทา เป็นกระสีดำ แตกเป็นร่องตื้นตามยาว ใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกตรงกันข้าม ใบย่อยรูปไข่ปลายแหลม 3 ใบ กว้าง 2.5-3 เซนติเมตร ยาว 4-6 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ ปลายแหลม โคนใบสอบ ท้องใบและหลังใบเรียบ หลังใบสีเขียว ท้องใบเป็นสีนวลขาว มีขน ก้านใบยาว 1-3 เซนติเมตร ก้านใบย่อยสั้นมาก ดอกช่อแยกแขนง ดอกมีขนาดเล็กสีฟ้าอมม่วงเป็นช่อยาว ออกที่ยอดหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ก้านดอกสั้น โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว 5-8 มิลลิเมตร ปลายแยกรูปปากเปิด มีขน มี 5 กลีบ กลีบดอกมีขนาดไม่เท่ากัน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนล่างมี 2 กลีบ ส่วนบนมี 3 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 4 อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ยอดเกสรเพศเมียแยก 2 แฉก กลีบเลี้ยงรูปถ้วย โคนติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก มีขน ผลสด รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 3-6 มิลลิเมตร ผลแห้ง ผิวเรียบ มีเมล็ดเดียว สีเขียวนวล เป็นพวงช่อ เมล็ดเดี่ยวกลม สีน้ำตาล เมื่อสุกมีสีคล้ำหรือดำ เกิดตามป่าดงดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
ลักษณะวิสัย
ใบ และ ช่อดอก
ช่อดอก
ช่อดอก
ช่อดอก และ ผล
ผล
สรรพคุณ
ตำรายาไทย ใบ รสร้อนสุขุมหอม บำรุงน้ำดี ขับเสมหะ บำรุงธาตุ รักษาโรคตับ ขับลม แก้ไอ แก้หืด ฆ่าพยาธิ แก้ริดสีดวงจมูก แก้ลำไส้พิการ ขับเหงื่อ แช่น้ำอาบแก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน รักษาอาการสาบคายในกาย แก้พิษฝีใหญ่ แก้พิษสำแลง และพิษต่างๆ ผสมกับเทียน ขมิ้น พริกไทย รับประทานแก้วัณโรค รักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้ แช่น้ำอาบแก้ผื่นคันโรคผิวหนัง โรคปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ และเป็นยาไล่แมลง ดอก รสหอมฝาด แก้ไข้ แก้หืดไอ ฆ่าพยาธิ บำรุงครรภ์มารดา บำรุงน้ำนม ผล รสร้อนสุขุม แก้คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลม ฆ่าพยาธิ แก้หืดไอ แก้ไข้ แก้ริดสีดวงจมูก แก้ปวดตามเนื้อตามข้อ แก้ท้องมาน ขับเหงื่อ เมล็ด รสร้อนสุขุม ระงับปวด เจริญอาหาร ราก รสร้อนสุขุม แก้ไข้ แก้โรคตับ โรคตา ถ่ายน้ำเหลือง ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ รากและใบ ต้มกินแก้ไข้ ให้หญิงหลังคลอดบุตรใหม่ๆรับประทานเป็นยาขับปัสสาวะและขับเหงื่อ ต้น ขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียดท้องอืด กระพี้ รักษาอาการคลื่นเหียนอาเจียน รักษาระดูสตรี เปลือก ใช้รักษาอาการไข้ซึ่งมีอาการกระทำให้เย็น รักษาอาการคลื่นเหียน รักษาหญิงระดูพิการ
ประเทศอินโดนีเซียใช้ ใบ เป็นยาขับลม และผสมในตำรับไล่แมลง
องค์ประกอบทางเคมี
ใบมีน้ำมันหอมระเหย เป็นของเหลวใส สีเหลือง มีกลิ่นเฉพาะตัว ประกอบด้วย beta-caryophyllene, alpha terpinene
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
น้ำมันหอมระเหยจาก ใบ เมื่อเตรียมเป็นโลชัน พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการกัดของยุงก้นปล่อง ได้นาน 8 ชั่วโมง, ยุงรำคาญ 7.5 ชั่วโมง, ยุงลายสวน 8 ชั่วโมง
ข้อมูลเครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/