ยอป่า

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ยอป่า

ชื่อสมุนไพร ยอป่า
ชื่ออื่นๆ ยอป่า (นครราชสีมา ทั่วไป) คุย (พิษณุโลก) อุ้มลูกดูหนัง (สระบุรี) สลักป่า สลักหลวง (ภาคเหนือ) ยอเถื่อน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Morinda elliptica (Hook.f.) Ridl.
ชื่อพ้อง Morinda citrifolia
ชื่อวงศ์ Rubiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้พุ่ม หรือไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 5 เมตร ผลัดใบ ทรงพุ่มมีกิ่งก้านไม่เป็นระเบียบ  กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขน ลำต้นสั้น คดงอ เปลือกต้นสีน้ำตาลหรือเทา แตกเป็นร่องลึกตามยาว และแนวขวาง หรือเป็นสะเก็ดสี่เหลี่ยมเล็กๆ เปลือกในสีเทาอ่อนปนเหลือง เนื้อไม้สีเหลือง ใบเดี่ยว ออกตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบรูปรีแคบ หรือรูปหอกกลับ กว้าง 5-9 ซม. ยาว 10-21 ซม. โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ใบสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีอ่อนกว่า ผิวใบค่อนข้างเกลี้ยงทั้งสองด้าน ใบแก่บาง เส้นใบข้าง 8-10 คู่ เส้นใบย่อยสานเป็นร่างแหชัดเจน เส้นใบตื้นไม่ลึกเหมือนยอบ้าน ก้านใบยาว 0.6-2 ซม. หูใบอยู่ระหว่างก้านใบขนาด 3-5 มม. รูปสามเหลี่ยม ปลายมักเป็นแฉกและเชื่อมกันเป็นแผ่น ร่วงหลุดง่าย ดอก เป็นดอกช่อสีขาวแบบช่อกระจุก มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกเล็ก ขนาด 2 ซม. ออกเป็นกลุ่ม ตามซอกใบและปลายยอด ช่อรูปร่างค่อนข้างกลม โดยมีรังไข่เชื่อมติดกัน กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ยาว 1 เซนติเมตร ปลายกลีบหยักเป็น 5 แฉก กลีบดอกสีขาว กลีบดอกเรียวแหลม กลีบดอกบาง เมื่อบานปลายกลีบมักโค้งลง หลอดกลีบเลี้ยงด้านบนแบน เชื่อมติดกับกลีบดอกข้างเคียงที่ฐาน เกสรตัวผู้สั้น 5-6 อัน ติดที่ปากหลอด ไม่โผล่ออกมา ก้านเกสรตัวเมียยาวกว่าหลอดกลีบ ปลายแยก 2 แฉก รังไข่มีหมอนรองดอกชัดเจน ผลเป็นผลรวม รูปร่างบิดเบี้ยวหรือค่อนข้างกลม ยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร กว้าง 2-3 เซนติเมตร ผนังผลเชื่อมติดกัน ผิวผลเรียบ มีตาเป็นปุ่มรอบผล ก้านผลยาว 4 ซม. ผลอ่อนสีเขียว เนื้อในอ่อนนุ่ม ฉ่ำน้ำ สีขาว ผลแก่สีดำ มีเมล็ดมาก สีน้ำตาล เมล็ดแบน 1 เมล็ดต่อหนึ่งผลย่อย ออกดอกเดือนมีนาคมถึงเมษายน ติดผลราวเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม พบตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าโปร่งทั่วไป ยอป่าเป็นไม้มงคลของอีสาน ในการนำข้าวขึ้นยุ้งจะตัดกิ่งยอป่ามาค้ำยุ้งไว้ก่อนนำข้าวขึ้นยุ้ง เพื่อเป็นสิริมงคล มีความหมายว่าให้ข้าวเพิ่มพูน

 

ลักษณะวิสัย

 

ลำต้น

 

ใบ

 

ดอก และ ใบ

 

ดอก

 

ดอก

 

ดอก

 

ผล

 

ผล


สรรพคุณ    
              ตำรายาไทย ใบ แก้ไข้ แก้ปวดศีรษะ แก้ริดสีดวงทวาร แก้ม้ามโต ใบสด ตำพอกศีรษะฆ่าไข่เหา อังไฟแล้วนำมาปิดที่หน้าอกหน้าท้องแก้ไอ แก้จุกเสียด แก้ม้ามโต แก้ไข้ ผลอ่อน แก้คลื่นไส้อาเจียน ผลสุกงอม ขับระดูสตรี ขับลมในลำไส้ ผลสุกรับประทานได้ แก่น รสขมร้อน ต้มหรือดองสุรา ดื่มขับเลือด บำรุงเลือด ขับน้ำคาวปลา ขับและฟอกโลหิตระดู แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ ขับผายลม ป้องกันบาดทะยักปากมดลูก  ราก แก้เบาหวาน ใบอ่อน ยอดอ่อน ลวก ต้มให้สุกจิ้มน้ำพริก 


องค์ประกอบทางเคมี
            ราก พบสารกลุ่มแอนทราควิโนนหลายชนิด เช่น 1-hydroxy-2-methylanthraquinone, nordamnacanthal, damnacanthal, rubiadin, soranjidiol, morindone, . lucidin-ω-methyl ether, rubiadin-l-methyl ether, alizarin-l-methyl ether, morindone-5-methyl ether

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 3
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่